posttoday

อัดยาแรง ปั๊มเศรษฐกิจไม่พ้นโคม่า

28 ตุลาคม 2562

รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3% ตามเป้าหมาย เพื่ออะไร

รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่สามารถจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3% ตามเป้าหมาย เพื่ออะไร

********************************

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

ถึงวันนี้ รัฐบาลยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยชะลอตัวกว่าที่คิด และกระตุ้นให้ ขยายเพิ่มขึ้นยากกว่าที่ตั้งความหวังไว้

ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 2.8% โดยมีช่วงการขยายตัวที่ 2.6-3.0% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3% ถือเป็นการขยายตัวชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ 4%

สาเหตุสำคัญมาจากปัจจัยลบ สงครามการค้ากระทบการส่งออกไทยรุนแรง คาดว่าทั้งปีจะติดลบถึง 2.5%

สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2563 ทางกระทรวงการคลังยังมองโลกในแง่ดี คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3% โดยมีช่วงการขยายตัว 2.8-3.8% จากการเร่งการลงทุนภาครัฐ และการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวก 2.6%

ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ เหลือ 2.8% จากเดิม 3.3% และปี 2563 เหลือ 3.3% จากเดิม 3.7% สาเหตุสำคัญมาจากการส่งออกเหมือนกัน โดยคาดว่าจะติดลล 1.0% จากคาดการณ์เดิม 0% และในปี 2563 คาดว่าส่งออกจะขยายตัว 1.7% จากคาดการ์เดิม 4.3%

ด้านเอกชนอย่าง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2562 และ 2563 เหลือ 2.8% เพราะมองว่าการส่งออกไทยเจอมรสุมสงครามการค้า ค่าเงินบาทแข็งค่า ปีนี้แข็งค่าไปแล้วประมาณ 7% แต่หากย้อนหลัง 5 ปี ค่าเงินบาทแข็งค่า 23% จึงมองว่าการส่งออกของไทยยังไม่แย่ถึงจุดต่ำสุด

การที่เศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 3% ทำให้รัฐบาลฝันสลาย เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ที่ตั้งขึ้นมามีเป้าหมายเพื่อเป็นดรีมทีมเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวได้ 3%

แต่ทว่า มาตรการที่ ครม. เศรษฐกิจออกมากลับเป็นมาตรการกระสุนด้านเสียส่วนใหญ่ ซึ่งแทบจะไม่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นเลย นอกจากสร้างกระแสความเชื่อมั่นได้ขึ้นบ้างเท่านั้น จากมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 1 ที่ให้ลงทะเบียน 10 ล้านคน ให้วงเงินท่องเที่ยวคนละ 1,000 บาท และ ให้เติมเงินเที่ยวเองอีกคนละไม่เกิน 3 หมื่นบาท รัฐบาลให้เงินคืน 15% หรือ 4,500 บาท

ปรากฎว่า มาตรการชิมช้อปใช้กลายเป็นกระแสฮิต ทำให้รัฐบาลได้หน้า แต่มาตรการไม่ได้ผล เพราะคนได้สิทธิ์ใช้เงินแต่วงเงิน 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ใช้ในส่วนที่เติมเงินซื้อสินค้า

ดังนั้น ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 โดยมีมาตรการชิมช้อปใช้เฟส 2 เป็นตัวชูโรง ให้ลงทะเบียนเพิ่มอีก 3 ล้านคน ให้แรงจูงใจเพิ่มในส่วนที่เติมเงินใช้ซื้อสินค้าเพิ่มในส่วนที่เกิน 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท ได้เงินคืน 20% หรือ ได้เงินคืนอีก 4,000 บาท หากใช้เต็มวงเงิน 5 หมื่นบาท จะได้เงินคืนถึง 8,500 บาท ถือว่ารัฐบาลทุ่มหนัก เพื่อกระตุ้นคนใช้เงินเกิดการหมุนเวียนในเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลคงประเมินแล้วว่า มาตรการชิมช้อปใช้ อย่างเดียวฉุดเศรษฐกิจขาลงไม่ขึ้น

ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเฟส 2 ยังมีมีมาตรการชุดใหญ่เติมเข้ามาอยู่ในแพกเกจ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นอสัหาริมทรัพย์ ที่มีทั้ง ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนจากเดิม 2% เหลือ 0.01% ลด ค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากเดิม 1% เหลือ 0.01% เฉพาะการซื้อขายที่อยู่อาศัยที่ดินพร้อมอาคารหรือห้อง ชุด ในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธันวามคม 2563

นอกจากนี้ยังให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ออกสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อหน่วย จนถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 โดยมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมด 50,000 ล้านบาท อัตรา ดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งถือว่าต่ำเมื่อเที่ยบกับสินเชื่อบ้านทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด

ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ จะช่วยฉุดเศรษฐกิจไทยขึ้นหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่ที่เห็นผลชัดๆ มาตรการนี้เป็นการอุ้มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีสินค้าขายไม่ออกอยู่จำนวนมาก โดย ธอส. คาดว่า ณ เดือนตุลาคม 2562 ที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท  มีอยู่ประมาณ 34,731 หน่วย นอกจากนี้ ยังคาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จ ในปี 2563 อีกประมาณ 145,269 หน่วย จึงมีที่อยู่อาศัยรวมกว่า 180,000 หน่วย ที่จะถูกระบายออกมา

ทั้งหมดจะเห็นว่า มาตรการกระตุ้นรัฐบาลที่ออกมา เป็นมาตรการยาแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เศรษฐกิจพ้นจากโคม่า แต่จะพ้นได้จริงคงไม่ใช่ง่าย แต่คนที่ได้ประโยชน์จากมาตรการมากที่สุด คือ กลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ไม่ใช่เศรษฐกิจภาพรวม