posttoday

อย่าผิดเงื่อนไขภาษีกองทุน LTF

18 ตุลาคม 2562

อย่าผิดเงื่อนไขภาษีกองทุน LTF

อย่าผิดเงื่อนไขภาษีกองทุน LTF

เรื่องโดย พูลศรี เจริญ 

............................

นักลงทุนอย่าลืมเช็คเงื่อนไขการลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ว่ามีอะไรบ้าง ล่าสุด ผู้แนะนำการลงทุน 3 ราย สังกัดแบงก์ไทยพาณิชย์ ถูกลงโทษ หลังปล่อยลูกค้าขายกองทุน LTF ผิดเงื่อนไขภาษี

ทั้งนี้ ล่าสุดวันที่ 18 ต.ค.62 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2* แก่ (1) นางสาวณัฐกฤตา ราชเนตร (2) นางสาวศรัญยา สื่อเจริญ และ(3) นางสาววิจิตรา หวานสนิท ขณะกระทำความผิดสังกัดธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เป็นเวลา 2 เดือน กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ

ก.ล.ต.ได้รับรายงานการตรวจสอบจากธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (Limited Broker Dealer and Underwriter: LBDU) และตรวจสอบเพิ่มเติมพบผู้แนะนำการลงทุนทำรายการขายคืนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ผิดเงื่อนไขภาษีให้แก่ลูกค้า ทั้งที่ระบบของธนาคารมีการแจ้งเตือนการขายที่ผิดเงื่อนไขภาษีแล้ว เป็นเหตุให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย โดยมีรายละเอียดดังนี้

(1) รายนางสาวณัฐกฤตา ไม่สอบทานความถูกต้องของการทำรายการและยืนยันการขายกองทุนผิดเงื่อนไขภาษี

(2) รายนางสาวศรัญยา ลงนามในใบคำสั่งขายคืนหน่วยลงทุน โดยไม่สอบทานความถูกต้องของการทำรายการและยืนยันการขายกองทุนผิดเงื่อนไขภาษี

(3) รายนางสาววิจิตรา อนุมัติรายการในระบบการซื้อขายกองทุน โดยไม่สอบทานความถูกต้องของการทำรายการและยืนยันการขายกองทุนผิดเงื่อนไขภาษี

ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้แนะนำทั้ง 3 รายไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ตามข้อ 23(2) และเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนตามข้อ 31(1) แห่งประกาศ ที่ ทลธ. 8/2557 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ ที่ ทลธ. 48/2560 ก.ล.ต. จึงสั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 ต่อบุคคลทั้งสาม เป็นระยะเวลารายละ 2 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2562

เงื่อนไขการลงทุนกองทุน LTF มีอะไรบ้าง

-ระยะเวลาลงทุน : ถือครอง 7 ปีปฏิทิน เช่น หน่วยลงทุนที่ซื้อทั้งหมดในปี 2559 ขายคืนได้ตั้งแต่ต้นปี 2565

-ความต่อเนื่องในการลงทุน : ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนก็ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น

-จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำต่อปี :ไม่กำหนด

จำนวนเงินลงทุนขั้นสูงสุดต่อปี :ไม่เกิน 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษีต่อปี และต้องไม่เกิน 500,000 บาท

กรณีผิดเงื่อนไขการลงทุน :กรณีผิดเงื่อนไขการลงทุน ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบ 7 ปีปฏิทิน ยกเว้นทุพพลภาพหรือเสียชีวิต

ข้อปฏิบัติหากผิดเงื่อนไขการลงทุนกองทุนLTF

1) คืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นทั้งหมดทันที พร้อมจ่ายเงินเพิ่มให้รัฐ 1.5% ต่อเดือน โดยคิดย้อนหลังตั้งแต่เดือน เม.ย.ของปีที่เคยยื่นขอลดหย่อนภาษีไว้ จนถึงวันที่ยื่นคืนภาษี

2) กำไรที่ได้จากการขายคืนที่ผิดเงื่อนไข ถือเป็นรายได้ในปีที่ขายคืนซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณภาษีด้วย โดย บลจ.จะหักภาษี ณ ที่จ่ายเบื้องต้น 3%

3) หากขายคืนหน่วยลงทุนที่ถือครองต่ำกว่า 1 ปี จะเสียค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน 1.5%