posttoday

เตือนปี 63 หุ้นกู้"ชั่วนิรันดร์" สะเทือนสถานะทางการเงินบจ.

17 ตุลาคม 2562

PwC ประเทศไทย ห่วงมาตรฐาน TAS 32 ฉบับใหม่ ทำหนี้สินต่อทุนสูง ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทย 8 แห่งออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มูลค่าคงค้างเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

PwC ประเทศไทย ห่วงมาตรฐาน TAS 32 ฉบับใหม่ ทำหนี้สินต่อทุนสูง ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนไทย 8 แห่งออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มูลค่าคงค้างเกือบ 8 หมื่นล้านบาท

นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชี และหุ้นส่วนบริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand’s Symposium 2019 ภายใต้หัวข้อ “บริหารความท้าทายขององค์กรในทศวรรษใหม่อย่างมืออาชีพ” (Connecting the dots: Managing corporate challenges in 2020 and beyond) ว่า ในปี 2563 ธุรกิจจะต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล การก้าวตามเทคโนโลยีเกิดใหม่ให้ทัน

รวมไปถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานการบัญชีและหลักการทางบัญชีใหม่หลายฉบับที่จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้าไม่ว่าจะเป็น TFRS 9, TAS 32 และ TFRIC 23 เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อรายงานทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 32 ที่ระบุเรื่องการจัดประเภทตราสารหนี้สินและทุนให้มีเงื่อนไขที่ละเอียดและชัดเจนขึ้น

คาดว่า จะส่งผลให้หุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน (Perpetual Bond) หรือ“หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์”ถูกจัดประเภทใหม่จากตราสารทุนเป็นหนี้สินในงบการเงินแทน ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงิน โดยเฉพาะอัตราหนี้สินต่อทุน (ดี/อี เรโช) เพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง และในที่สุดทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงตามไปด้วย

โดยปกติแล้ว ลักษณะที่สำคัญของ Perpetual Bond มี 2 ประการ คือ 1.ไม่มีกำหนดการชำระคืนเงินต้นที่แน่นอน กล่าวคือ ผู้ถือไม่มีสิทธิไถ่ถอน สิทธิการไถ่ถอนอยู่ที่ผู้ออกหุ้นกู้ และ 2) มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยที่ชัดเจน แต่ผู้ออกหุ้นกู้มีสิทธิในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยออกไปได้

ทั้งนี้ TAS 32 ฉบับใหม่ได้ให้คำอธิบายการพิจารณาจัดประเภทตราสารว่า จะเป็นหนี้ หรือทุนชัดเจนขึ้น โดยระบุว่า ถ้าการชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่กิจการไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ต้องไถ่ถอนหุ้นกู้ทันที เมื่อมีผลขาดทุนสะสมจนทำให้ส่วนของทุนเหลือน้อยกว่า 50% ของทุนจดทะเบียน

กรณีเช่นนี้ จะต้องแสดง Perpetual Bond เป็นหนี้สิน เว้นแต่มีการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะกิจการได้ชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ (Liquidation) ไม่ว่าโดยสมัครใจ หรือโดยผลของกฎหมายล้มละลาย (กรณีศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย) ตราสารนั้นจะถูกจัดประเภทเป็นทุน

แต่ปัจจุบันหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนของบริษัทจดทะเบียนไทย 8 แห่งที่อยู่ในตลาดนั้น มีการระบุเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กิจการไม่อาจควบคุมได้ คือ บริษัทจะชำระคืนเงินต้นหรือดอกเบี้ยในกรณีที่ 1) บริษัทผู้ออกเลิกกิจการ 2) ล้มละลาย 3) เข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ และ 4) ถูกพิทักษ์ทรัพย์ถาวร ซึ่งจะเห็นว่า หากบริษัทเกิดกรณีตามเงื่อนไขข้อที่ 3 และ 4 อาจทำให้ไม่สามารถเลื่อนการชำระคืนเงินต้นหรืออัตราดอกเบี้ยออกไปได้ นั่นจึงทำให้หุ้นกู้ดังกล่าว ควรจะต้องถูกจัดประเภทเป็นหนี้สินแทน

ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนไทยขนาดใหญ่ 8 แห่งที่ออกหุ้นกู้ประเภทดังกล่าว มีมูลค่าคงค้างประมาณ 7.7 หมื่นล้านบาท (ณ 30 กันยายน 2562) ซึ่งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ที่ไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการส่วนใหญ่ จะต้องการใช้เงินลงทุนสูง แต่ไม่ต้องการเพิ่มทุน หรือกู้ยืมเงิน เพราะเกรงจะกระทบกับสัดส่วนหนี้สินต่อทุน และส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตสูงตามไปด้วย จึงหันมาออกหุ้นกู้ที่ประเภทนี้ เนื่องจากไม่กระทบอัตราหนี้สินต่อทุน และยังช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการบริหารจัดการโครงสร้างหนี้อีกด้วย