posttoday

ธปท.ถามตอบนักวิเคราะห์ยัน"ศก.ไทยไม่ถดถอย"

10 ตุลาคม 2562

ธปท. ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในงาน Analyst Meeting ครั้งที่ 4/2562 วันที่ 10 ตุลาคม 2562

ธปท. ยืนยันเศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยในงาน Analyst Meeting ครั้งที่ 4/2562 วันที่ 10 ตุลาคม 2562

สำหรับงานดังกล่าว นายวิรไท สันติประภพ ผู้บริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพการเงิน
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท. สายนโยบายการเงิน และ นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค เป็นผู้ตอบคำถามนักวิเคราะห์ ประกอบด้วย

1. เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่

ผู้ว่าการ ธปท. ตอบว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอย ไม่ได้เกิดวิกฤต ประมาณการเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.8 ปีนี้ และร้อยละ 3.3 ปีหน้า เพียงแต่ขยายตัวชะลอลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดี การที่ประชาชนและนักธุรกิจหลายท่านรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ภาวะธุรกิจหดตัวแรงนั้น เป็นโจทย์เรื่องการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ (distribution) ที่เราพบว่าเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัว โดยบางธุรกิจขยายตัวดีมาก แต่บางธุรกิจหดตัว ซึ่งมาจากทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้าง และ ปัจจัยชั่วคราว

ผมขอยกตัวอย่างปัจจัยเชิงโครงสร้างที่สำคัญ 3 เรื่อง คือ

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ e-commerce และ platform ขยายตัวดีมาก การขนส่งสินค้าที่ซื้อขายทางออนไลน์ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากหลักหมื่นชิ้นต่อวันเป็นหลักล้านชิ้นต่อวันแล้ว อำนาจซื้อของผู้บริโภคได้ย้ายไปยังที่ใหม่ อุตสาหกรรมและธุรกิจในรูปแบบเดิมจึงพบกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ยอดขายลดลงมาก เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจและธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไป

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการซื้อสินค้าคงทนชิ้นใหญ่ เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น บ้าน ลดลง ขณะที่ความต้องการซื้อบริการเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ เพิ่มขึ้น หากใครทำธุรกิจที่ตอบสนองต่อผู้สูงอายุจะขยายตัวได้ดี

การแข่งขันและการเข้าถึงเทคโนโลยี จากผลการศึกษาในงานสัมมนาวิชาการของ ธปท. ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา พบว่าการแข่งขันเป็นเรื่องสำคัญ บริษัทขนาดใหญ่ได้เปรียบบริษัทขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบริษัทขนาดใหญ่มีทุนมากกว่า สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ดีกว่าธุรกิจขนาดเล็ก เราพบว่าตัวเลขหนี้เสียของบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทขนาดเล็กที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน มีทิศทางแตกต่างกัน ตัวเลขหนี้เสียของบริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มลดลง แต่หนี้เสียของบริษัทขนาดเล็กกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาค แต่ต้องแก้ด้วยนโยบายเชิงโครงสร้างซึ่งต้องร่วมมือกันกับหลายภาคส่วน
สำหรับปัจจัยชั่วคราว คือ ผลจากการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ อุตสาหกรรมและธุรกิจของประเทศไทยซึ่งอยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบ อยู่ในขั้นกลางของกระบวนการผลิตสินค้า อาจจะเป็นรายกลางรายเล็ก จึงได้รับผลกระทบไปด้วย

คำถามอีกประเด็นหนึ่งที่คนรู้สึกกัน คือ ทำไมอัตราเงินเฟ้อต่ำ แต่กลับรู้สึกว่าของแพง เกิดจากปัญหาเรื่องการกระจายตัวอีกเช่นกัน โดยสินค้าคงทน สินค้าเทคโนโลยี ปัจจุบันมีราคาถูกลงมาก สินค้าพวกนี้มีมูลค่าสูง มีสัดส่วนใหญ่ในตะกร้าเงินเฟ้อ แต่เป็นสินค้าที่เราไม่ได้ซื้อทุกวัน ขณะที่สินค้าที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้ากลุ่มนี้มีราคาต่ำ มีสัดส่วนน้อยในตะกร้าเงินเฟ้อ แต่ราคาปรับสูงขึ้นและเราซื้อใช้ทุกวัน เมื่อนำสองกลุ่มมาคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำแต่เรารู้สึกว่าของแพงขึ้น

ธปท.ถามตอบนักวิเคราะห์ยัน"ศก.ไทยไม่ถดถอย"

2. ธปท. มีแนวทางในการดูแลการแข็งค่าของเงินบาทอย่างไร เหมือน ธปท. จะเน้นในเรื่องการแก้ไขค่าเงินบาทแข็งค่าในเชิงโครงสร้างมากขึ้น จากการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เงินทุนเคลื่อนย้าย กระตุ้นการลงทุนเพื่อลดดุลบัญชีเดินสะพัดที่อยู่ในระดับสูง จึงอยากทราบว่ามีความคืบหน้าด้านนี้หรือไม่

ผู้ว่าการ ธปท. ตอบว่า ค่าเงินเป็นเรื่องที่ กนง. ห่วงใย และ ธปท. ก็มีมาตรการออกไปดูแล การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่

สถานการณ์ต่างประเทศ ซึ่งเราควบคุมไม่ได้ มีผลอย่างมากต่อค่าเงิน ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนและมีความเสี่ยงมากตั้งแต่ต้นปี สำหรับไทยที่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน และจัดอยู่ในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) เหมือนกัน เมื่อจีนได้รับผลกระทบ เราก็ได้รับผลกระทบด้วย เมื่อตลาดการเงินโลกมีภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk on) หรือปิดรับความเสี่ยง (Risk off) ก็จะกระทบประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งภูมิภาค แต่มองด้านดีคือ ต่างประเทศมองว่าเรามีความเสี่ยงต่ำ ในช่วง Risk off เงินทุนก็จะไหลเข้ามาไทยเพราะเรามีความมั่นคงกว่าประเทศอื่นที่ปัจจัยพื้นฐานอ่อนแอกว่า

การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ถ้าดูช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ เราเกินดุลบัญชีเดินสะพัด $25 Billion แม้ว่าการส่งออกจะติดลบ แต่การนำเข้าของเราติดลบมากกว่า ทำให้เกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งก็มาจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

การส่งออกทองคำของไทย ในสภาวะที่มีความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ มีสงครามการค้า มีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ราคาทองคำจะปรับสูงขึ้น ก็จะมีนักลงทุนไทยที่ซื้อทองคำไว้ในช่วงก่อนหน้า เร่งขายทองทำกำไรโดยส่งออกไปต่างประเทศ จึงมีรายได้เงินตราต่างประเทศไหลเข้ามา ในช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนจากการขายทองคำไหลเข้ามาถึงประมาณ $4 Billion

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มากขึ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามา Takeover บริษัทไทยเพิ่มขึ้น มีการขายหุ้นระดมทุนของบริษัทใหญ่ และมักจะเป็นข้อตกลงมูลค่าสูงระดับหมื่นล้านบาท เงินทุนไหลเข้าที่เกิดขึ้นก็มีผลในการสร้างแรงกดดันต่อค่าเงิน

ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดแตกต่างจากช่วง มิ.ย. - ก.ค. 62 ซึ่งจะนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์แบบ Portfolio Flow เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติต้องการปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับดัชนีอ้างอิงการลงทุน ซึ่งปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนไทย รวมทั้งมีกลุ่มที่พยายามเก็งกำไร เข้ามาพักเงินเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ดังนั้น ธปท. จึงเพิ่มความเข้มงวดในการติดตาม Portfolio Flow รวมทั้งปรับเกณฑ์ Non-resident Baht Account ให้เข้มงวดขึ้น โดยเริ่มทำในช่วงปลายเดือน ก.ค. และตั้งแต่นั้นมา Portfolio flow ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาท โดย Portfolio flow เป็นด้านไหลออกแล้ว ตั้งแต่ ส.ค. - ต.ค. รวมประมาณ $4.5 Billion

สำหรับมาตรการที่ ธปท. จะนำมาดูแลเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดแรงจูงใจในการเอาเงินเข้ามาพักในระยะสั้น ๆ และทำให้เงินทุนไหลเข้าสมดุลกับเงินทุนไหลออกมากขึ้น ได้แก่ Foreign Exchange Liberalization ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วนและกระบวนการด้านกฎหมายยังอยู่ใน pipeline คิดว่าน่าจะประกาศได้ภายใน 1-2 เดือน อาทิ ให้นักลงทุนไทยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน

ผู้ส่งออกสามารถพักเงินในต่างประเทศได้มากขึ้น ไม่ต้องนำกลับเข้ามาในไทยมีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาเป็นผู้ให้บริการธุรกรรมมากขึ้น สร้างทางเลือกให้ผู้ส่งออกไทย ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ดูแลการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทองคำ การซื้อขายทองคำมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ (value added) แต่สร้างผลข้างเคียงด้านค่าเงิน ก็ต้องมาดูกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ไม่ได้ห้ามการลงทุนซื้อขายทองคำ แต่จะเป็นการทบทวนกฎเกณฑ์เพื่อให้รายได้จากการซื้อขายทองคำไม่มีแรงกระแทกกับค่าเงินมากเกินไป

ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (current account: CA) ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2015 มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 11.5 ของ GDP ตอนนี้อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ของ GDP จะเห็นว่าลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา และยังสามารถทำเพิ่มเติมได้โดยเร่งการลงทุนและการนำเข้า เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก การลงทุนเรื่องนี้จะส่งผลต่อเนื่องด้านบวก จูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนก็ต้องลงทุนเยอะขึ้นด้าน digital infrastructure ของเครือข่าย 5G จังหวะนี้จะเป็นโอกาสที่อัตราแลกเปลี่ยนเอื้อประโยชน์ต่อการนำเข้า สร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ ขณะที่หลายประเทศที่อยากจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นแต่ทำไม่ได้ติดปัญหาค่าเงินอ่อนค่า อีกประเด็นหนึ่ง คือ การลดกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งเป็นต้นทุนแฝง อาทิ การทำ Regulatory Guillotine การทำ Regulatory Impact Assessment การทำแพลทฟอร์มต่าง ๆ ให้เข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนแฝงของการลงทุนได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เช่น การทำ one stop service การยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมที่เคยใช้ในโลกยุคเก่าแต่ไม่สอดคล้องในโลกยุคใหม่ จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของเอกชนลงได้มาก

3. การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายล่าช้าเกินไปหรือน้อยเกินไป (behind the curve) หรือไม่

รองผู้ว่าการ เมธี ตอบว่า ในการประชุม กนง. เมื่อเดือน ส.ค. แม้จะไม่ได้ประกาศตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจใหม่ แต่กรรมการ กนง. ก็เห็นแล้วว่า การขยายตัวทั้งเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และการส่งออกต่ำกว่าที่คาด จึงมีการลดดอกเบี้ยทันที ซึ่งจะช่วยรองรับเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเมื่อมองไปข้างหน้า สำหรับการประชุม กนง. ครั้งล่าสุดที่มีมติเอกฉันท์ 7:0 ให้คงดอกเบี้ย พบว่าตัวเลขเศรษฐกิจใกล้เคียงกับเดือน ส.ค. ที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ในช่วง ส.ค. - ก.ย. รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายมาตรการ จึงต้องประเมินว่ามาตรการที่ทำไปทั้งหมดจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากแค่ไหน ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

ทั้งนี้ บางท่านคาดการณ์ว่า กนง. จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 1.25 ขอชี้แจงว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.25 เป็นเพียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในอดีต ไม่ได้หมายความว่าจะลดลงต่ำกว่านั้นไม่ได้ อนาคตข้างหน้ายังมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอีกมาก หากมีความจำเป็นก็สามารถดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 1.25 ได้ตามหลักการ data-dependent ซึ่งชั่งน้ำหนักทั้ง 3 เรื่อง คือ เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงเรามีเครื่องมือดูแลเสถียรภาพระบบการเงินระหว่างทางอยู่แล้ว

ผู้ว่าการ ธปท. ตอบว่า ขอเสริมว่าการดูนโยบายการเงินต้องดูบริบทด้วย ธนาคารกลางของประเทศอื่นที่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้มาก เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสูงก่อนแล้วตามความจำเป็นของเขา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ปรับขึ้นมากถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ และหากมาดูเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield curve) ของไทยในปัจจุบัน พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่สั้นกว่า 15 ปี ลดต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 เสียอีก ดังนั้น สภาพคล่องในตลาดการเงินของไทยจึงไม่ใช่ปัญหา

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางท่านอาจประสบเรื่องเงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะธุรกิจรายเล็กหรือธุรกิจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ทาง ธปท. เอง ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ธปท. สนับสนุนให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (debt restructuring) ให้กับ SMEs เพื่อจะช่วยผู้ประกอบการให้ก้าวข้ามผ่านภาวะที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราว และต้องปรับวิธีการทำธุรกิจเพื่อให้เหมาะสมกับโลกใหม่ สอดรับกับโลกเทคโนโลยีมากขึ้น การปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจังของ SMEs จึงเป็นเรื่องที่ ธปท. ให้ความสำคัญต่อเนื่องจากคลินิกแก้หนี้ซึ่งมุ่งแก้ไขสินเชื่อส่วนบุคคล