posttoday

ครม.ไฟเขียวก่อหนี้ใหม่8.9แสนล้าน

24 กันยายน 2562

ครม. ไฟเขียวแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2563 ก่อหนี้ใหม่ 8.9 แสนล้านบาท

ครม. ไฟเขียวแผนบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2563 ก่อหนี้ใหม่ 8.9 แสนล้านบาท

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 โดยเน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการใช้เงินอยู่ภายใต้กรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ซึ่งแผนการบริหารหนี้ดังกล่าว แบ่งเป็น แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 8.9 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 7.4 แสนล้านบาท จะเป็นการกู้มาเพื่อบริหารสภาพคล่องของเงินคงคลัง จำนวน 9 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เพียงพอรองรับการเบิกจ่ายเป็นครั้งคราว รวมถึงรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐระยะสั้นของรัฐบาล ในช่วงไตรมาส 1-2 ของปีงบประมาณ 2563

นอกจากนี้ รัฐบาลกู้มาใช้โดยตรง จำนวน 5.7 แสนล้านบาท มาจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ เป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปี 2563 และเงินกู้ต่างประเทศเพื่อมาใช้ในโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สนับสนุนการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมในประเทศและภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ รัฐบาลกู้ในประเทศมาเพื่อให้กู้ต่อ เพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ จำนวน 8.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 5 โครงการ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท โครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 9 โครงการ วงเงิน 6.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 13 แห่ง วงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 8.7 หมื่นล้านบาท เช่น การเคหะแแห่งชาติ 4 พันล้านบาท การประปาส่วนภูมิภาค 6 พันล้านบาท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 หมื่นล้านบาท บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินโครงการและเสริมสภาพคล่อง 5.6 หมื่นล้านบาท และ รฟท. อีก 1.4 หมื่นล้านบาท

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ในส่วนแผนการบริหารหนี้เดิม จำนวน 8.3 แสนล้านบาท ประกอบด้วยหนี้เดิมของรัฐบาล (หนี้ในประเทศทั้งหมด) วงเงิน 6 แสนล้านบาท และหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ (ทั้งหนี้ในประเทศและต่างประเทศ) วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท และ แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 3.9 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 นั้น อยู่ภายในกรอบพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ที่กำหนดไว้ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ต้องไม่เกิน 60% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 42.76% และสัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ ต้องไม่เกิน 35% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 18.48% รวมถึงสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ต้องไม่เกิน 10% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 2.86% และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ต้องไม่เกิน 5% ซึ่งการดำเนินงานปี 2563 อยู่ที่ 0.15%