posttoday

ดีบีเอส สิงคโปร์ ขยับครั้งใหญ่ รุกธุรกิจไพรเวทเวลธ์ ในไทย

18 กันยายน 2562

ดันบล.ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ เจาะกลุ่มลูกค้าคนรวย เห็นโอกาสหลังผู้ลงทุนรายใหญ่โตกว่า 1.2 แสนราย ในปี 61 คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครอง 160 ล้านบาท/คน

ดันบล.ดีบีเอส วิคเคอร์สฯเจาะกลุ่มลูกค้าคนรวย เห็นโอกาสหลังผู้ลงทุนรายใหญ่โตกว่า 1.2 แสนราย ในปี 61 คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครอง 160 ล้านบาท/คน

ธนาคารดีบีเอส ประกาศเป็นพันธมิตรระหว่างดีบีเอสไพรเวทแบงก์และบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ด้วยเป้าหมายเพิ่มสินทรัพย์ของธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในประทศไทยจาก 4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือคิดเป็น 8.88 หมื่นล้านบาท เป็น 8 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 1.77-2 แสนล้านบาท ภายในปี 2566

สำหรับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ (ไฮเน็ต เวิร์ธ) ในประเทศไทยที่กำลังเพิ่มจำนวนขึ้น และกำลังมองหาช่องทางในการกระจายการลงทุนและเข้าถึงโอกาสการลงทุนในตลาดต่างประเทศ โดยความร่วมมือดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2562 เป็นต้นไป

นางภัทธีร ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ฯ กล่าวว่า การร่วมเป็นพันมิตรนี้จะทำให้การเข้าถึงบริการบริหารสินทรัพย์จากการลงทุนทั้งตลาดในไทยและต่งประเทศที่ครอบคลุมและไร้รอยต่อให้ลูกค้าไทย ซึ่งนับเป็นบริษัทแรกในไทยที่พร้อมให้บริการดังกล่าว เพื่อตอบความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นธนาคารดีบีเอสยังตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ในประเทศไทยเป็นเท่าตัวภายในปี 2566

"ผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทยยังไม่คุ้นเคยกับการลงทุนในต่างประเทศ แต่แนวโน้มนี้เริ่มเปลี่ยนไป โดยเมื่อมีความมั่งคั่งมากขึ้นความต้องการบริการบริหารความมั่งคั่งที่ครอบคลุมและกลยุทธ์การลงทุนในระดับโลกก็มีมากขึ้นตามไปด้วย"

นางภัทธีรา กล่าวว่า ปัจจุบันสิ่งที่ลูกค้าผู้ลงทุนรายใหญ่ต้องการคือ"บริการจากจุดเดียว"ที่สามารถให้คำปรึกษาที่นำเชื่อถือ ผลิตภัณฑ์และทางออกสำหรับการลงทุนเพื่อบริหารความมั่งคั่งรวมถึงการชื่อมโยงประสบการณ์ในตลาดในและต่างประเทศแบบไร้รอยต่อ ซึ่งนับเป็นช่องว่างที่ดีบีเอสสามารถเติมเต็มให้แก่ลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการร่วมเป็นพันธมิตรในครั้งนี้

ในการร่วมเป็นพันธมิตรนี้จะนำจุดแข็งที่สุดของทั้งสององค์กร คือ บริการธุรกรรมหลักทรัพย์ในประเทศที่ครอบคลุม กองทุนรวม หุ้น หุ้นกู้ อนุพันธ์ และพันธบัตร การให้คำปรึกษาการลงทุนในตลาดไทยที่มีคุณภาพ ผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจบริหารสินทรัพย์ในระดับโลก เครือข่ายในภูมิภาคเอเชียที่แข็งแกร่ง ทางเลือกและแพลตฟอร์มในการบริหารสินทรัพย์ในตลาดต่างประเทศที่ครบถ้วน เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าผ่านทางผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง

นางภัทธีรา กล่าวว่า ประเทศไทยมีประชากรที่มีความมั่งคั่งมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยฐานผู้ลงทุนรายใหญ่เติบโตเป็นกว่า 1.2 แสนราย ในปี 2561 คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครองของผู้ลงทุนราว 160 ล้านบาท/คน หรือประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสินทรัพย์ของผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทยเติบโตเฉลี่ย 12.7 % ต่อปี ตั้งแต่ปี 2553-2560 โดยสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของผู้ลงทุนเหล่านี้อยู่ในรูปของธุรกิจครอบครัว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยและมีมูลค่า 80% ของจีดีพีประเทศ

จากการร่วมเป็นพันธมิตรนี้ธุรกิจครอบครัวในประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันภายในธนาคารดีบีเอสภายใต้คอนเซปต์ "One Bank" ซึ่งเหมาะกับบริการด้านนี้อย่างยิ่ง โดยตอบความต้องการของลูกค้าการบริหารความมั่งคั่ง ลูกค้ารายย่อย วาณิชธนกิจ และลูกค้าบรรษัทอย่างทั่วถึง

ภายหลังจากมีการร่วมมือกัน คาดว่าจะสามารถดึงดูดฐานผู้ลงทุนรายใหญ่ในประเทศไทยเข้ามาใช้บริการดีบีเอสไพรเวทแบงก์เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าไว้จำนวน 1,000 ราย จากปัจจุบันที่มีฐานผู้ลงทุนรายใหญ่ของ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ที่เข้าข่ายคุณสมบัติมีทรัพย์สินระดับ 10 ล้านดอลลาร์ขึ้นไปอยู่ประมาณ 100 ราย และยังตั้งเป้าเพิ่มสินทรัพย์ของธุรกิจบริหารความมั่นคั่งในไทยแตะ 1.77-2 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท

พร้อมกันนี้ มองว่าธุรกิจบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทย ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เนื่องจากปัจจุบันฐานผู้ลงทุนกว่า 90% ยังคงลงทุนอยู่เฉพาะในประเทศไทย ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศและการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งการบริการไพรเวทแบงก์ จะช่วยให้การลงทุนมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศที่จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งค่าเฉลี่ยที่นักลงทุนทั่วไปต้องการควรอยู่ที่ระดับ 8-10% แต่การลงทุนในประเทศไทยปัจจุบันหาผลตอบแทนในระดับดังกล่าวได้ค่อนข้างยากแล้ว

สำหรับจุดแข็งของกลุ่มดีบีเอส คือ การอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยลูกค้าสามารถมาเปิดบัญชีกับบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) และจะสามารถเข้าถึงบริการของดีบีเอส ไพรเวทแบงก์ ในสิงคโปร์ได้ทุกผลิตภัณฑ์ โดยไม่ต้องไปเปิดบัญชีที่สิงคโปร์ รวมถึงสามารถทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลได้ทุกที่ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นจุดแข็งที่แตกต่างจากค่ายอื่นๆ ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมก็จะคิดตามผลิตภัณฑ์นั้นๆ

ปัจจุบัน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) มีฐานลูกค้ารวม 2-3 หมื่นบัญชี หรือคิดเป็นจำนวนผู้ลงทุนกว่า 1 หมื่นราย โดยมีบัญชีที่เคลื่อนไหวสม่ำเสมอ หรือแอ็คทีฟเฉลี่ย 20 % ของบัญชีรวม ขณะที่บริษัทฯมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความมั่งคั่งออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น เวลธ์แมเนจเม้นท์ หรือ ผู้แนะนำการลงทุนด้านความมั่งคั่ง และแพลตฟอร์มที่จะสามารถเข้ามาลงทุนได้เฉลี่ยทุกเดือน

ด้านนายซิม เอส ลิม หัวหน้ากลุ่มงานบุคคลธนกิจและธนบดีธนกิจของธนาคารดีบีเอส สิงคโปร์ กล่าวว่า การร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในตลาดการบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทย ซึ่งมีศักยภาพสูงเห็นได้จากความรู้ความเข้าใจขั้นสูงและการเปิดรับความคิดใหม่ๆ ด้านการลงทุนที่มีมากขึ้นในกลุ่มลูกค้าไทย การออกกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ ธนาคารดีบีเอส ให้บริการแก่ลูกค้าไทยมานานกว่า 20 ปี ผ่าน บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) เข้าใจความต้องการและความชอบเฉพาะตัวของลูกค้า ด้วยความเชี่ยวชาญ การเชื่อมโยงภายในภูมิภาคเอเชียที่แข็งแกร่ง ศักยภาพชั้นนำทางด้านดิจิตอล และชื่อเสียงในฐานะธนาคารที่ปลอดภัยที่สุดในเอเชีย และการได้รับการจัดอันดับเป็นธนาคารที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก