posttoday

ต่างชาติโยกเงินรอซื้อ 2 หุ้นไอพีโอยักษ์ "แอสเสท เวิรด์-เซ็นทรัล รีเทล"

13 กันยายน 2562

บล.หยวนต้า เผยหนึ่งใน 4 สาเหตุทำบาทแข็งค่ามากสุดในรอบ 6 ปี 4 เดือน ท่องเที่ยว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร ร้องจ๊าก!

บล.หยวนต้า เผยหนึ่งใน 4 สาเหตุทำบาทแข็งค่ามากสุดในรอบ 6 ปี 4 เดือน ท่องเที่ยว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร ร้องจ๊าก!

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)หยวนต้า (ประเทศไทย ) ระบุว่า เงินบาทวานนี้ (12 ก.ย.62 ) แข็งค่าเร็วจนหลุด 30.50 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยลงไปทำจุดต่ำสุดในรอบ 6 ปี 4 เดือนที่ 30.35 บาท/ดอลลาร์ฯ นั้นคาดว่าเกิดจาก 4 ปัจจัย ดังนี้

(1) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงปรับตัวขึ้น จนกระตุ้นให้เกิดแรงเก็งกำไรในค่าเงินบาทระยะสั้น

(2) แรงเร่งซื้อเงินบาทของผู้ส่งออก หลังจากหลุดแนวรับสำคัญแถว 30.50 บาท/ดอลลาร์ฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าขึ้นต่อในอนาคตอันใกล้นี้

(3) เงินทุนต่างชาติที่เข้ามารอซื้อหุ้นไอพีโอ ขนาดใหญ่ เช่น บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ในปัจจุบัน และบริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ในช่วงปลายปี เป็นต้น

(4) แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) ที่อาจยังไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 25 ก.ย. 62 ตาม ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)

ทั้งนี้ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป เป็นหุ้นกลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี กำหนดราคาไอพีโอที่ 6.00 บาท/หุ้น คิดเป็นเงินระดมทุน 4.8 หมื่นล้านบาท เปิดจองซื้อวันที่ 25-27 ก.ย.นี้ และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรกต้นเดือนต.ค.นี้ โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ มาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอ ที่ 1.92 แสนล้านบาท นับเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ในรอบ 44 ปี

จากเงินบาทที่แข็งค่า บล.หยวนต้า ฯ มองว่ากลุ่มที่ได้และเสียประโยชน์จากเงินบาทแข็งอาจไม่ชัด ให้เน้นดูเป็นรายตัวเนื่องจากบ้านเราพึ่งพาการส่งออกมากถึง 70% ของจีดีพี การแข็งค่าของเงินบาทจึงกระทบกับเชิงลบกับบริษัทที่มีธุรกรรมการค้ากับต่างประเทศมากกว่ากระทบเชิงบวก ซึ่งกลุ่มหุ้นที่ไม่ชอบเงินบาทแช็งค่าอย่างมากคือ ท่องเที่ยว, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, สินค้าเกษตร และถ้ามองไปข้างหน้าว่าการแข็งค่าของเงินบาทจะไปกดดันให้ กนง. ลดดอกเบี้ย กลุ่มแบงก์ที่ฟิ้นกลับเร็วในช่วงนี้ ก็อาจมีแรงขายกดดันเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่มักได้ประโยชน์จากเงินบาทแข็งมีดังนี้

(1) ผู้นำเข้าสินค้ามาขายในประเทศ เช่น SYNEX, AIT, MFEC

(2) กลุ่มโรงไฟฟ้าได้ประโยชน์จากต้นทุนก๊าซธรรมชาติทีถูกลง และต้นทุนเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ถูกลง เช่น GPSC

(3) กลุ่มพลังงาน อาจมีกำไรจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยน และต้นทุนเงินกู้ยืมจากต่างประเทศที่ถูกลง เช่น PTT, PTTEP

(4) กลุ่ม Domestic Play หรือกลุ่มอิงกำลังซื้อในประเทศ เช่น สื่อสาร, ค้าปลีก, รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งมักปรับตัวขึ้นเด่นในช่วงเงินบาทแข็ง เพราะได้รับผลกระทบจำกัดสุด หรือต่อให้มี ก็จะเป็นเชิงบวกมากกว่าลบ