posttoday

WHAUP ติดตั้งโซลาร์รูฟลานจอดรถโรงงานผลิตรถยนต์ MG ใหญ่ที่สุดในประเทศ

11 กันยายน 2562

ปรับเป้า ปี 62 แตะ 25 เมกะวัตต์ หลังลูกค้าสนใจพลังงานสะอาด ช่วยลดต้นทุน ประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ปรับเป้า ปี 62 แตะ 25 เมกะวัตต์ หลังลูกค้าสนใจพลังงานสะอาด ช่วยลดต้นทุน ประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น


นายวิเศษ จูงวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯ ได้เซ็นสัญญาร่วมกับ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี (SAIC MOTOR-CP) ในช่วงต้นไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถ (Solar Carpark) ขนาดกำลังผลิตติดตั้งรวม 4.88 เมกะวัตต์ บนพื้นที่หลังคาลานจอดรถ รวม 31,000 ตารางเมตร หรือจอดรถได้ประมาณ 2,000 คัน ของโรงงานผลิตรถยนต์ MG ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE 2) โดยอายุสัญญาโครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 20 ปี คาดว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในไตรมาส1/2563 และจะเป็นโครงการ Solar Carpark มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้จากโครงการดังกล่าว เฉลี่ย 20 ล้านบาทต่อปี ตลอดอายุสัญญา 20 ปี

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้า สนใจติด Solar Rooftop จำนวนมาก ทั้งลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ปและกลุ่มลูกค้านอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างการเจรจาในกลุ่มลูกค้าดังกล่าว ในขณะเดียวกันในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทฯ มีลูกค้าที่เซ็นสัญญาติดตั้ง Solar Rooftop เกินกว่าเป้าที่บริษัทฯ วางไว้ จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 15 เมกะวัตต์ ทำให้บริษัทฯ ต้องมีการปรับเป้าใหม่

ขณะที่บริษัทฯ มั่นใจว่าปีนี้ จะติดตั้ง Solar Rooftop ได้ 25 เมกะวัตต์ และหากรวมกับ Solar Rooftop เดิมที่มีติดตั้ง และดำเนินการในเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วกว่า 10 เมกกะวัตต์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ในปี 2562 นี้ WHAUP จะมี Solar Rooftop รวมทั้งหมด 35 เมกกะวัตต์ และบริษัทฯ คาดว่า ภายใน 5 ปี (2561-2565) WHAUP จะมีการให้บริการติดตั้ง Solar Rooftop จำนวน 100 เมกะวัตต์ อย่างแน่นอน

ปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งที่เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งทั้งหมดจำนวน 30.7 เมกะวัตต์ โดยโครงการที่อยู่ระหว่างติดตั้ง 21.2 เมกะวัตต์ ตามแผนจะทยอยเปิดดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 3/2562 ถึงไตรมาส 1/2563 ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการให้บริการ และความสนใจของกลุ่มลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมซึ่งให้ความสนใจพลังงานที่เป็น Green Energy สามารถช่วยลดต้นทุน ประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น