posttoday

เอชเอสบีซีแนะกฎระเบียบต้องหนุนเศรษฐกิจดิจิทัล

10 กันยายน 2562

เอชเอสบีซีชี้สมดุลระหว่างนวัตกรรมและกฎระเบียบนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอชเอสบีซีชี้สมดุลระหว่างนวัตกรรมและกฎระเบียบนำไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายจอห์น ชู ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารเอชเอสบีซี ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า ความร่วมมือเพิ่มเติมในแนวทางการกำกับดูแลและกฎระเบียบทั่วทั้งภูมิภาคเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้อานิสงส์อย่างเต็มที่จากเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเจริญเติบโตนี้

“ขณะที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ไร้พรมแดน แต่กฎระเบียบที่กำกับดูแลกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยสามารถก่อให้เกิดความท้าทายสำหรับธุรกิจระดับโลกที่ประกอบกิจการเทคโนโลยีระดับโลก วิถีทางที่ดีที่สุดในการจัดการปัญหานี้ทำได้ด้วยการที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่กำกับดูแล และองค์กรภาคธุรกิจต้องทำงานร่วมกันโดยอาศัยความร่วมมือในระดับภูมิภาค”

ในอีก 10 ปีข้างหน้า มีประเด็นสำคัญบางเรื่องที่จะเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ รวมถึงการปรับข้อมูลให้เข้ากับท้องถิ่น (Data localisation) เทคโนโลยี Cloud Computing ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity)

ทั้งนี้ ธนาคารเอชเอสบีซีได้ให้ข้อเสนอแนะ 4 ประการถึงวิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่มีพลวัตและความร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างองค์กรธุรกิจ รัฐบาล และผู้กำกับดูแล กฎระเบียบแบบองค์รวม (Holistic Regulation) เพื่อดำรงไว้ซึ่งความถูกต้องและชอบธรรมของระบบการเงินระดับโลก การพัฒนากรอบการกำกับดูแลที่เหมาะสมโดยไม่คำนึงถึงแบบจำลองธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทุกองค์กรธุรกิจ

คำนึงถึงกิจกรรมเป็นหลัก (Activities-Based) ต้องหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์การกำกับดูแล 2 ชั้น (two-tier regulatory regime) เพื่อลดความเสี่ยงในการหาประโยชน์จากความแตกต่างในการกำกับดูแล (regulatory arbitrage) การให้บริการแบบเดียวกันด้วยความเสี่ยงระดับเดียวกันต้องหมายถึงการบังคับใช้กฎระเบียบเดียวกันตั้งแต่การปฏิบัติงานอย่างรอบคอบและระมัดระวังไปจนถึงการคุ้มครองลูกค้าและข้อมูล

การประสานงานระดับภูมิภาค (Regional coordination) ผู้กำหนดนโยบายของอาเซียนควรพิจารณาแผนกลยุทธ์ในอนาคต เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้แผนแม่บทไอซีที (ICT Masterplan 2020) การพัฒนาแผนปฏิบัติการกรอบการบูรณาการอาเซียน (DIFAP) และกรอบการกำกับดูแลข้อมูลดิจิทัล (Framework on Digital Data Governance) อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนกระบวนการบริหารองค์กรที่จำเป็นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมวัตถุประสงค์เหล่านี้ การดำเนินการดังกล่าวจะเพิ่มความน่าเชื่อถือของอาเซียนในการเป็นฐานการผลิตทางเลือกสำหรับธุรกิจระดับโลก

มาตรฐานระดับโลก (Global standards) ควรมีการประสานงานระดับโลกในด้านต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ เรามุ่งหวังจะกระตุ้นให้ผู้กำกับดูแลภาคบริการการเงิน เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลและการแข่งขันทางการค้า รัฐบาลแห่งชาติ (national governments) องค์กรเหนือชาติ (supranational bodies) และอุตสาหกรรมให้ทำงานร่วมกันในเวทีเสวนาระดับโลกเพื่อมุ่งไปสู่ความต้องการที่สอดคล้องต้องกันมากยิ่งขึ้น

นายชู กล่าวต่อว่า “ผู้กำหนดนโยบายควรพิจารณาว่าจะสามารถกำหนดกฎเกณฑ์การกำกับดูแลแบบองค์รวมที่เชื่อมโยงและสอดประสานกันได้อย่างไร โดยเป็นกฎเกณฑ์ที่องค์กรธุรกิจทุกขนาดและทุกประเภทสามารถที่จะพัฒนานวัตกรรมตามศักยภาพ และผู้กำหนดนโยบายมีความสามารถเพียงพอในการตรวจสอบดูแลและบังคับใช้กฎระเบียบ”

ทั้งนี้การให้ความสำคัญกับนวัตกรรมดิจิทัลและกฎระเบียบอย่างเท่าเทียมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนที่กำลังขยายตัว โดยเศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีมูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568