posttoday

ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลไร้มนต์ขลัง

03 กันยายน 2562

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

รัฐบาล "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศ สมัยที่ 2 มาเป็นเวลา 2 เดือน ต้องถือว่ายังไม่เข้าที่เข้าทางทั้งการบริหารจัดการด้านการเมืองและการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

ในแง่การเมืองรัฐบาลผสม 19 พรรค ทำให้นักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ไม่มั่นใจว่ารัฐบาลนี้จะบริหารเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีเสถียรภาพ ประเด็นนี้จึงกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่ตลอดเวลา

สำหรับด้านเศรษฐกิจ รัฐบาล "บิ๊กตู่ 2" ได้รับการคาดหวังจากประชาชนและนักลงทุน จะเข้ามาบริหารเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวรุนแรง จากผลกระทบสงครามการค้าและ ความผันของเศรษฐกิจต่างประเทศ ให้ฟื้นตัวกลับมาได้อย่าง
รวดเร็วอย่างไร

ยิ่งล่าสุด สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ กระทรวงการคลัง ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้เหลือ 3% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะปรับคาดการณ์เศรษฐกิจสิ้นเดือนนี้ และส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจจะขยายตัวได้ไม่ถึง 3%

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้น สั่นคลอนความเชื่อมั่นประชาชนและนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน เห็นได้ชัดจากการชะลอการบริโภคและการลงทุน ทำให้เศรษฐกิจยิ่งทรุดเพิ่มขึ้นไปอีก

ถึงแม้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและนักลงทุน แต่ก็ไม่เกิดผลเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นหัวเรือใหญ่นำทัพเศรษฐกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ สมัยรัฐบาลบิ๊กตู่ 1 มีอำนาจเต็มในการสั่งการกระทรวงเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด แต่ในยุครัฐบาลบิ๊กตู่ 2 นอกจากไม่ได้เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแล้ว หน่วยงานเศรษฐกิจที่สำคัญอยู่ภายใต้การดูแลของนายสมคิด ยังมีแค่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เท่านั้น

แม้ว่ารัฐบาลพยายามอุดจุดอ่อนเสริมจุดแข็งเรื่องทีมเศรษฐกิจ โดยการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ โดยให้บิ๊กตู่นั่งหัวโต๊ะ หรือ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไปในตัว เพื่อขับเคลื่อนมาตรการและโครงการต่างๆ ของกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญที่อยู่ในมือของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม หรือ กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้เดินหน้าเป็นกอบเป็นกำ

ดังนั้น การมี ครม. เศรษฐกิจ จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนและนักลงทุนจับตาและตั้งความหวังว่า จะเป็น ครม. ดรีมทีม ที่ช่วยกันผลักดันและขับเคลื่อนกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นจากอาการป่วยหนักให้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ครม. เศรษฐกิจ เปิดตัวไม่สวย ประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2562 ที่ผ่านมา ก็เห็นรอยร้าวไม่เป็นเนื้อเดียวกัน แม้ว่า ครม. เศรษฐกิจจะเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วน 3.16 แสนล้านบาท เพื่อ
พยุงให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวไม่ได้น้อยกว่า 3%

แต่เมื่อไปพิจารณารายละเอียดของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะพบว่า มีการไม่ยอมและหักเหลื่ยมเฉือนคมกันระหว่าง รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต่างพรรคกันจนถึงนาทีสุดท้าย

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง โพสต์เฟสบุ๊กก่อนประชุม ครม. เศรษฐกิจ ว่า มาตรการกระตุ้นเร่งด่วนมีวงเงิน 2 แสนล้านบาท ซึ่งมีมาตรการประกันภัยรายได้เกษตรกรทั้ง ประกันราคาข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วงเงิน 1 แสนล้านบาท รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาตรการคลอดออกมาจาก ครม. เศรษฐกิจ จริงๆ ปรากฎว่ามาตรการประกันรายได้ถูกยกหายไปทั้งหมด เพราะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ไม่ต้องการให้มาตรการประกันรายได้เกษตรรวมอยู่ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะกระทรวงพาณิชย์ต้องการจะทำเรื่องนี้เอง

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ ครม. เศรษฐกิจอนุมัติออกมา 3.16 แสนล้านบาท จึงมีการยำกันใหม่เพื่อเบ่งวงเงินให้ดูมาก ให้ประชาชนและนักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น

แต่แท้ที่จริงแล้วมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนที่ออกมานั้นมีแค่ มาตรการแจกเงินเพิ่มคนจน 2 หมื่นกว่าล้านบาท กับ มาตรการแจกเงินเที่ยวคนละ 1,000 บาท 10 ล้านคน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ที่เป็นมาตรการใหม่เท่านั้น

ส่วนมาตรการปล่อยสินเชื่อของแบงก์รัฐอีก 2 แสนล้านบาท ให้กับประชาชนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คนซื้อบ้าน ถือเป็นเรื่องที่เป็นแบงก์รัฐดำเนินการปกติอยู่แล้ว และเป็นมาตรการที่หวังผลเร่งด่วนไม่ได้ แต่ถูกยัดเข้ามาเพื่อให้มาตาการ
กระตุ้นเศรษฐกิจดูดีเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่า ครม. เศรษฐกิจไม่มีเอกภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะในการประชุมครั้งแรกมีการเห็นชอบ ให้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบริหารมาตรการเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการตั้งขึ้นมาทำงานซ้ำซ้อนกับ ครม. เศรษฐกิจ และ ไม่มีความชัดเจนในองค์ประกอบของคณะกรรมการและคนที่จะมานั่งหัวโต๊ะในคณะกรรมการนี้ว่าเป็นใคร

ปัญหาของ ครม. เศรษฐกิจ ยังพบว่าไม่มีกำหนดการประชุมที่ต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนไม่มีความเชื่อมั่นในการทำงานของ ครม. เศรษฐกิจ ต่างจาก ครม. เศรษฐกิจ ของรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่จะมีการประชุมกันทุกสัปดาห์เพื่อที่จะพิจารณามาตรการโครงการเศรษฐกิจสำคัญให้ ครม. ชุดใหญ่เห็นชอบได้อย่างรวดเร็ว

สัญญาณอันตรายของ ครม. เศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ผ่านมา เมื่อมีการยกเลิกการประชุม ครม. เศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 กะทันหัน โดยนายสมคิด ออกมาระบุว่า บีโอไอ ยังทำมาตรการกระตุ้นการลงทุนไม่ทัน จึงต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน

การเลื่อนออกไปแสดงให้เห็นว่า การทำงานของ ครม. เศรษฐกิจไม่มีความพร้อม เมื่อแกะวาระการประชุม ครม. เศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 ซึ่งเดิมต้องมีการพิจารณามาตาการเร่งการลงทุนภาคเอกชน มาตรการเร่งการส่งออก และการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนบริหารมาตรการเศรษฐกิจ

แต่ปรากฎว่า นายสมคิด พูดแต่ถึงมาตรการการลงทุนที่บีโอ ไอเท่านั้น แต่ไม่พูดถึงมาตรการเร่งลงทุนในส่วนของกระทรวงคมนาคม ที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่ รวมถึงมาตรการกระตุ้นการส่งออกที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจุรินทร์ ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องผลักดันออกมากระตุ้นเศรษฐกิจไม่แพ้มาตรการของบีโอไอ

เมื่อเป็นเช่นนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านการเห็นชอบ จาก ครม. เศรษฐกิจ จะเห็นเป็นเบี้ยหัวแตก ไม่มีพลังในการขับเคลื่อนและฉุดเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

ทั้งหมดเป็นสัญญาณให้เห็นว่า ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอยู่ในภาวะไร้มนต์ขลัง ขณะที่ ครม. เศรษฐกิจไร้ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ต่างคนต่างทำมาตรการของตัวเอง เดินทางใครทางมัน ถือเป็นเรื่องปกติของรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่เป็นรัฐบาลผสมมีพรรคการเมืองร่วมจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นผลร้ายเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ในภาวะเสี่ยงถึงที่สุดที่จะขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% จนทำให้ความเชื่อมั่นประชาชนและนักลงทุนขวัญกระเจิงจนรัฐบาลฉุดไม่อยู่