posttoday

แบงก์รัฐแห่ออกมาตรการช่วยน้ำท่วมพิษพายุโพดุล

02 กันยายน 2562

3 แบงก์รัฐ ธอส.-ธ.ก.ส.-เอสเอ็มอีแบงก์ ออกมาตรการช่วยน้ำท่วมพักชำระหนี้ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือเป็นการด่วน

3 แบงก์รัฐ ธอส.-ธ.ก.ส.-เอสเอ็มอีแบงก์ ออกมาตรการช่วยน้ำท่วมพักชำระหนี้ ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือเป็นการด่วน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออก 7 มาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือลูกค้าประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยจากพายุโพดุล จัดทำ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2562” กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท 1) กรณีลูกค้าเดิมที่หลักประกันเสียหาย ลดภาระดอกเบี้ยเหลือ 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก 2)กรณี ลูกค้าใหม่ หรือลูกค้าเดิมที่หลักประกันเสียหายให้กู้เพิ่ม หรือกู้ใหม่ ดอกเบี้ยพิเศษ 3.00% ต่อปี นาน 3 ปี 3)กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหาย และกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ สามารถขอประนอมหนี้ ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน คิดอัตราดอกเบี้ย 0% ต่อปี นาน 4 เดือนแรก ไม่ต้องชำระเงินงวด

สำหรับ 4)กรณีได้รับผลกระทบด้านรายได้ ให้ประนอมหนี้เป็นระยะเวลา ไม่เกิน 1 ปี อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี 5)กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ให้ผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี 6)กรณีที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายทั้งหลังและไม่สามารถซ่อมแซมได้ให้ปลอดหนี้ และ 7)ลูกค้าที่ทำกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัย รวมถึงประกันภัยธรรมชาติ รับค่าสินไหมเร่งด่วนเป็นกรณีพิเศษ(Fastrack) 15,000 บาท หรือตามความเสียหายจริงสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท

ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้มีมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยใน 13 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้มีการพักชำระหนี้เงินต้นเป็นระยะเวลา 1 ปี พร้อมทั้งจัดเตรียมวงเงินสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีก 55,000 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อฉุกเฉินเพื่อใช้ในการชีวิตประจำวันรายละไม่เกิน 50,000 บาท ปลอดดอกเบี้ย 3 ปีแรก ส่วนที่ที่เหลือคิดอัตราดอกเบี้ย MRR 6.875% และสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูการผลิต วงเงินไม่เกินรายละ 500,000 บาท ระยะเวลาผ่อนนาน 15 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย MRR

ขณะที่ นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ   รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ธนาคารได้ออก 2 มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยลูกค้าเอสเอ็มอี 1.มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) ออกมาตรการช่วยเหลือพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน

2. มาตรการ วงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ  เพื่อให้ลูกค้าธนาคารที่ได้รับความเสียหาย มีเงินทุน นำไปฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการซึ่งมีระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ย 0.415% ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญา วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท 2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท  และ3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้รวมวงเงินเดิมแล้วต้องไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อนและสามารถใช้หลักประกันบรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท