posttoday

คลังหวังเงินชิมช้อปใช้เข็นจีดีพีโตได้ 0.2%

29 สิงหาคม 2562

คลังลุ้นมาตรการชิมช้อปใช้ 2 หมื่นล้านบาท กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศคึกคัก ดันจีดีพีขยับเพิ่ม 0.2%

คลังลุ้นมาตรการชิมช้อปใช้ 2 หมื่นล้านบาท กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศคึกคัก ดันจีดีพีขยับเพิ่ม 0.2%

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า มีการประเมินว่ามาตรการชิมช้อปใช้ วงเงินดำเนินการ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ผลักดันออกมานั้น จะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น และมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.1-0.2%

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ค. 2562 พบว่า เริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากปัจจัยสนับสนุนด้านอุปสงค์จากการส่งออกกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน โดยขยายตัวที่ 4.3% ต่อปี โดยสินค้าส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องนุ่งห่ม รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ผัก ผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป ยางพารา

ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนก็ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัว 17.5% ต่อปี ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัว 0.8% ต่อปี และปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัว 11.5% ต่อปี ส่วนยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวติดลบ 9.1% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงอยู่ที่ระดับ 62.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและสงครามการค้า

ด้านการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ก.ค. 2562 ขยายตัว 4.7% ต่อปี คิดเป็น 3.33 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนกลับมาขยายตัวได้ในรอบ 5 เดือน โดยขยายตัวที่ 5.8% ต่อปี ขณะที่นักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ อินเดีย ลาว และมาเลเซีย เป็นต้น ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 1.67 แสนล้านบาท ขยายตัว 3.1% ต่อปี

สำหรับภาคเกษตรขยายตัวได้ 0.2% ต่อปี ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ติดลบ 3.2% ต่อปี เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ 93.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับภัยแล้ง ซึ่งส่งผลต่อภาคการผลิต และเรื่องสงครามการค้า ซึ่งอาจมีผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศ