posttoday

นักวิชาการเตือนรัฐต่างชาติโยกกำไรเลี่ยงภาษีพุ่ง

28 สิงหาคม 2562

นักวิชาการแนะรัฐเฝ้าระวังบริษัทข้ามชาติโยกกำไรเลี่ยงภาษี

นักวิชาการแนะรัฐเฝ้าระวังบริษัทข้ามชาติโยกกำไรเลี่ยงภาษี

นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การหลบเลี่ยงภาษีระหว่างประเทศเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบันทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ส่วนหนึ่งของความสนใจนี้เป็นเพราะบทบาทที่สำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆของบริษัทข้ามชาติ (Multinational enterprises: MNEs) และการทวีความสำคัญของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible services) เช่น สิทธิบัตรต่างๆ ซึ่งเอื้อต่อการวางแผนภาษีของบริษัทข้ามชาติ ในส่วนรัฐบาลไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เช่นกัน โดยได้มีการออก พ.ร.บ. Transfer pricing ซึ่งเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นปี 2562 ที่ผ่านมา

โดยงานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ข้อมูลงบการเงิน และเครือข่ายความเป็นเจ้าของ (Ownership Network) ของบริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในช่วงปี 2005-2016 ซึ่งคณะผู้วิจัยพบว่าบริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 มีการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญทั้งในเชิงสถิติและเศรษฐศาสตร์ โดยการลดลงของอัตราภาษีต่างชาติลง 10% จะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติลดการรายงานกำไรในประเทศแหล่งลงทุนถึง 10.3% โดยเฉลี่ย

ทั้งนี้งานวิจัยชี้ว่าแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนี้จะเด่นชัดสำหรับบริษัทในภาคการผลิต และบริษัทขนาดใหญ่

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าระดับความเข้มงวดของการตรวจสอบบัญชีนั้น สามารถลดทอนแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคได้อย่างดี ในขณะที่การขอเอกสารสนับสนุนการตั้งราคาโอนเพียงอย่างเดียวนั้นจะมีประสิทธิผลค่อนข้างต่ำ นอกจากนี้ผลการศึกษายังชี้ว่าภาวะแวดล้อมในเชิงของภาษีหัก ณ ที่จ่ายและความกว้างของเครือข่าย DTA มีความสำคัญต่อแรงจูงใจของบริษัทข้ามชาติเช่นกัน โดยภาวะแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการโยกย้ายกำไร (อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายในระดับสูง และเครือข่าย DTA ที่แคบ) จะลดแรงจูงใจในการหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญ