posttoday

โครงการPPPอืดสั่งทบทวนแก้ปัญญาเพียบ

26 สิงหาคม 2562

คณะกรรมการ PPP พิจารณาความเหมาะสม 2 โครงการ PPP เชิงสังคม เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เร่งรัดให้เกิดความชัดเจน

คณะกรรมการ PPP พิจารณาความเหมาะสม 2 โครงการ PPP เชิงสังคม เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เร่งรัดให้เกิดความชัดเจน

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผย
ผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 3/2562 เมื่อวันจันทร์ที่ 26 ส.ค. 2562 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้

1. คณะกรรมการ PPP ได้พิจารณาความเหมาะสมของหลักการของโครงการศูนย์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ของกรมการแพทย์ มูลค่ารวมกว่า 8,200 ล้านบาท ถือเป็นโครงการ PPP เชิงสังคมในกิจการ
ด้านสาธารณสุขโครงการแรก โดยเป็นโรงพยาบาลศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ขนาด 510 เตียง ตั้งอยู่บริเวณสถานีกลางบางซื่อ วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข
ที่มีคุณภาพ โดยมีบริการทางการแพทย์เฉพาะทางที่ครอบคลุม ในอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เข้าถึงได้ และช่วยลดความแออัดในการใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคาร และจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั้งหมด และรัฐจะเป็นผู้บริหารและให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้ใช้บริการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี

อย่างไรก็ คณะกรรมการได้เร่งรัดให้พิจารณาความชัดเจนในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะมาตรการ BOI ด้านภาษี และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับโครงการจากการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน

2. คณะกรรมการ PPP ได้พิจารณาความเหมาะสมของหลักการของโครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) ของการเคหะแห่งชาติ มูลค่ารวมกว่า 5,500 ล้านบาท โดยเป็นโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ
และมีโรงพยาบาลหรือกิจการด้านดูแลรักษาสุขภาพ และศูนย์การค้าชุมชน เพื่อเป็นส่วนสนับสนุนให้โครงการที่อยู่อาศัยมีคุณภาพมากขึ้น บนเนื้อที่รวม 52 ไร่ บริเวณตำบลหนองหอย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ วัตถุประสงค์
เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต สร้างทางเลือกด้านที่พักอาศัยให้แก่ผู้สูงอายุ รวมทั้งเพื่อรองรับในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ รูปแบบที่ กคช. ให้เอกชนเช่าที่ดิน เพื่อดำเนินการลงทุนออกแบบ ก่อสร้าง บริหารจัดการและบำรุงรักษาโครงการ ระยะเวลาสัญญา 30 ปี และได้เร่งรัดให้พิจารณาความชัดเจนในรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบธุรกิจ
ที่เอกชนจะมีส่วนทำให้โครงการประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ คณะกรรมการ PPP ได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 20 (9) ในกรณีต่างๆ รวม 6 กรณี ได้แก่

1. กรณีโครงการท่าเทียบเรือในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

2. กรณีการดำเนินการโครงการพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์บางส่วน (อาคารกลุ่ม L) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

3. กรณีโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงโรงแรมชายทะเล ของกรมธนารักษ์
4. กรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน
ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

5. กรณีการเปิดโครงข่ายเน็ตประชารัฐตามหลักเกณฑ์โครงข่ายแบบเปิด (Open Access Network) ให้ผู้ประกอบกิจการเชื่อมต่อเพื่อต่อยอดให้บริการไปยังบ้านเรือนประชาชน ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ

6. กรณีโครงการสรรหาเอกชน เพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย