posttoday

พิษขึ้นภาษีบุหรี่40%ทำ"ยสท."ทรุดกำไรไตรมาสแรก124ล้านบาท

26 สิงหาคม 2562

คาดขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ในเดือนต.ค. 2563 คงส่งผลกระทบ ยสท. หนักขึ้นไปอีก

คาดขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ในเดือนต.ค. 2563 คงส่งผลกระทบ ยสท. หนักขึ้นไปอีก

รายงานจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของการยาสูบแก่ประเทศไทย (ยสท.) ไตรมาส 1 ปีงบประมาณ 2562 (ต.ค.-ธ.ค. 2561) มีรายได้รวม 13,338 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 13,214 ล้านบาท กำไรสุทธิ 124 ล้านบาท และมีอัตราส่วนทำกำไรต่อผู้ถือหุ้น (ROE) เท่ากับ 0.61

สำหรับผลการดำเนินงานของ ยสท. ในช่วงเวลาเดียวกันในไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. - ธ.ค. 2560) ยสท. มีรายได้รวม 10,186 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 9,944 ล้านบาท กำไรสุทธิ 242 ล้านบาท และมีอัตราส่วนทำกำไรต่อผู้ถือหุ้น (ROE) 1.15

เมื่อเทียบผลการดำเนินงานทั้งสองช่วงแล้ว กำไรในไตรมาสที่ 1 2562 ลดลง 49% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561 และถ้าย้อนกลับไปดูในปี 2560 ก่อนการขึ้นภาษีบุหรี่ในเกือนกันยายน 2560 จะพบว่า ลดลงถึง 95% แสดงให้เห็นว่า ผลการดำเนินงานทรุดตัวลงเรื่อย

ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2561 ของ ยสท. เปิดเผยว่า หลังจากที่กฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตภาษีบุหรี่ใช้บังคับเมื่อก.ย. 2560 ยสท. มีผลการดำเนินงานตกต่ำ โดยในปี 2561 มีการปรับภาษีบุหรี่ขึ้นเป็น 1.20 บาทต่อมวน และ 20% ของราคาบุหรี่ซองไม่เกิน 60 บาท และ 40% ของราคาบุหรี่ที่วองหนึ่งเกิน 60 บาท ทำให้ ยสท. มียอดขายลดลงจาก 2.9 หมื่นล้านมวน เหลือ 1.9 หมื่นล้านมวน ลดลง 36% และมีกำไรลดลงจาก 9,434 ล้านบาท เหลือ 834 ล้านบาท ลดลง 91% โดยมีสาเหตุ ดังนี้

ยอดขายลดลงเป็นผลมาจากภาระภาษีที่สูงขึ้น ทำให้บุหรี่ ยสท. มีราคาสูงขึ้น จนส่งผลให้ผู้สูบบุหรี่หันไปหาสูบบุหรี่เถื่อนและยาเส้นมวนเองที่มีราคาถูกกว่าหลายเท่า นอกจากนี้ ยสท. ยังต้องแข่งขันกับบุหรี่นำเข้าที่มีความได้เปรียบด้านแบรนด์แต่มีราคาขายเท่ากับราคาบุหรี่ ยสท. จึงส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาด ยสท. ลดลงจาก 79% เป็น 60% ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ 2561

อัตรากำไรลดลง เพราะภาระภาษีสูงมาก ทำให้กำไรต่อซองลดลงจาก 6.6 บาทต่อซอง เหลือเพียง 0.9 บาทต่อซอง ลดลงถึง 86%

ปัจจัยหลักที่มีผลต่อกิจการ ยสท. ได้แก่ การปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตบุหรี่อีกเท่าตัวที่จะทำให้บุหรี่มีราคาใกล้เคียงกันหมด โดยภาษีสรรพสามติบุหรี่ที่ประกาศใช้ในปี 2560 ทำให้บุหรี่ถูกจัดเก็บภาษีเป็นสองกลุ่มโดยมีราคากลาง 60 บาทเป็นตัวแบ่งกลุ่ม แต่หากมีการขึ้นภาษี 40% อีกเท่าตัว บุหรี่ทั้งหมดจะต้องจัดเก็บภาษีที่อัตราเท่ากันซึ่งจะทำให้บุหรี่ทุกกลุ่มตราที่เคยมีความแตกต่างกันด้านราคาจากคุณภาพและภาพลักษณ์ มีราคาใกล้เคียงกันหมด (ข้อมูลจากข่าวเมื่อต้นปีนี้ ยสท. เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปีนี้ว่าหากมีการขึ้นภาษีจริง ยสท. จะต้องปรับราคาบุหรี่ขึ้นไปขายขั้นต่ำที่ 93 บาทต่อซอง และทำให้ยอดขายลดลงเหลือเพียง 8.5 พันล้านมวน จาก 1.9 หมื่นล้านมวน หรือลดลงกว่าครึ่ง และกำไรทั้งปีจะลดลงเหลือเพียง 300-400 ล้านบาท และอาจไม่ได้รับซื้อใบยาสูบจากเกษตรกรชาวไร่ยาสูบอีกหลายปี)

ผลการดำเนินงานของ ยสท. ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้ชาวไร่ยาสูบโดนลดโควต้ารับซื้อใบยาลงประมาณ 47% ในขณะที่รัฐก็ไม่มีรายได้นำส่งคลังปีละกว่า 8,000 - 9,000 ล้านบาท รวมทั้ง ยสท. ก็ได้เสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอยกเว้นการนำส่งเงินรายได้แผ่นดินจากผลการดำเนินงานประจำปี 2560 - 2562 จำนวน 14,663 ล้านบาท เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินให้เพียงพอที่จะรองรับภาระภาษี สามารถเบิกจ่ายงบลงทุน และเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ที่ผ่านมา ยสท. ได้มีการแก้ไขปัญหา โดย ยสท. ได้มีแนวทางในการปรับตัวในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไม่ให้ลดลงไปมากกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็มองหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจอื่นเพิ่มเติม ใขณะที่รัฐบาลได้เลื่อนภาษีการขึ้นอัตราภาษีบุหรี่จาก 20% เป็น 40% ออกไปอีก 1 ปี เป็น 1 ต.ค. 63 และอนุมัติวงเงินกู้ 1,500 ล้านบาท ให้ ยสท. ตลอดจนยกเลิกการกำหนดให้ ยสท. ชำระภาษีแทนผู้ค้าของ ยสท. ซึ่งจะช่วยลดภาระให้ ยสท. ได้ประมาณ 600 ล้านบาท (ยังเห็นผลไม่ชัดเจน เห็นได้จากกำไรไตรมาส 1 ปีนี้ก็ยังลดลงเรื่อย ๆ )

การที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในฐานะที่ดูแลการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จะต้องมีการทบทวนการเลื่อนการปรับขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ออกไปอีก เพราะเรื่องดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการทั้งในส่วนของไทยและต่างประเทศรวมถึงผู้ปลูกใบยาสูบด้วย ถือเป็นเรื่องที่ดีที่น่าจะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อ ยสท. ลงได้