posttoday

สคร.โชว์เก็บรายได้รัฐวิสาหกิจคึกคักสูงกว่าเป้าหมาย 10%

23 สิงหาคม 2562

สคร. เผยรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้แผ่นดินรอบ 10 เดือนปีงบประมาณ 2562 แตะ 1.61 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 10%

สคร. เผยรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้แผ่นดินรอบ 10 เดือนปีงบประมาณ 2562 แตะ 1.61 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 10%

นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงภาพรวมเงินนำส่งรายได้แผ่นดินสะสมของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561- ก.ค. 2562) ว่า มีการนำส่งรายได้ทั้งสิ้น 1.61 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 10% จากเป้าหมายรายได้นำส่งสะสมที่ 1.46 แสนล้านบาท โดยเป้าหมายนำส่งทั้งปีอยู่ที่ 1.68 แสนล้านบาท โดยภาพรวมของรัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการจากกำไรสุทธิดีขึ้นทำให้สามารถนำส่งรายได้สูงกว่าเป้าหมาย

ทั้งนี้ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีการนำส่งรายได้สูงสุด อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยังมีความต้องการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล

นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจกลุ่มพลังงานได้แก่ บริษัท ปตท. มีการนำส่งรายได้อยู่ที่ 2.91 หมื่นล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำส่งรายได้ อยู่ที่ 1.89 หมื่นล้านบาท และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำส่งรายได้ที่ 1.09 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ รัฐวิสาหกิจกลุ่มสถาบันการเงินได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการใช้บริการทางการเงินที่หลากหลายของลูกค้าในยุคดิจิทัล อีกทั้งยังมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานอีกด้วย โดยธนาคารออมสิน มีการนำส่งรายได้ที่ 1.65 หมื่นล้านบาท

“ในปีงบประมาณ 2563 สคร. มีเป้าหมายในการจัดเก็บรายได้ส่งคลังของรัฐวิสาหกิจและกิจการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นต่ำกว่า 50% จำนวน 1.88 แสนล้านบาท” นายประภาศ กล่าว

ขณะที่ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในปีงบประมาณ 2562 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ณ สิ้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีการเบิกจ่ายงบลงทุนแล้ว 1.47 แสนล้านบาท จากเป้าหมายทั้งสิ้น 3.33 แสนล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้ สคร. จะเร่งติดตามให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย และให้พิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมที่มีความพร้อมให้ดำเนินการเร็วขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ในปีนี้ และให้คำนึงถึงความสามารถในการเบิกจ่ายได้จริง รวมถึงให้วางแผนการเบิกจ่ายให้เร็วขึ้นในโครงการที่ดำเนินการได้

นอกจากนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และ สคร. พิจารณาการปรับลดกรอบงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เข้มงวดมากขึ้น และให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาโครงการลงทุนอื่นๆ ที่มีความพร้อมมาเร่งดำเนินการแทน เพื่อให้มีการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ