posttoday

แบงก์ไทยพาณิชย์จับทิศทางเงินปอนด์จะไปทางไหน

20 สิงหาคม 2562

ประเด็นเรื่องการหาข้อยุติในการเจรจาเพื่อออกจากสมาชิกภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ (Brexit) ที่กำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนในขณะนี้ 

ประเด็นเรื่องการหาข้อยุติในการเจรจาเพื่อออกจากสมาชิกภาพยุโรปของประเทศอังกฤษ (Brexit) ที่กำลังเป็นที่จับตามองของนักลงทุนในขณะนี้ 

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ประเด็นที่น่าจับตาในช่วงนี้ คือ ประเด็น Brexit ตั้งแต่นาย บอริส จอห์นสัน ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯของอังกฤษ ค่าเงินปอนด์ก็ร่วงอย่างเร็ว จนวันนี้ค่าเงินปอนด์เทียบกับเงินบาทอยู่ที่ 37 บาทต้นๆ เ

ทั้งนี้ แนวความคิดและนโยบายเรื่อง Brexit ของนายบอริส จอห์นสัน เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในชุดคณะรัฐบาลของนางเทเรซา เมย์มาก่อน แต่ต่อมาได้ขอลาออกไป เนื่องจากไม่พอใจเงื่อนไขที่ เมย์ยอมให้กับสหภาพยุโรประหว่างการเจรจาที่ยังไม่มีข้อยุติ และเมื่อนางเทเรซา เมย์ ลาออกจากตำแหน่ง ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ นายบอริส จอห์นสัน ได้หาเสียงขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งนายบอริส จอห์นสัน ถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญที่อยากให้อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ในที่สุด หลังจากที่เขาได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาก็มีท่าทีกล้าที่จะต่อรองกับสหภาพยุโรปมากกว่าเทเรซา เมย์ โดยไม่สนใจว่าหากต่อรองไม่สำเร็จแล้ว อังกฤษอาจจะต้องออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงก็ตาม ยิ่งทำให้นักลงทุนในตลาดวิเคราะห์กันว่าโอกาสที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงนี้มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับประเด็นสำคัญที่รัฐสภาของอังกฤษยังตกลงกับยุโรปไม่ได้ คือเรื่องของแนวทางการจัดการเรื่องพรมแดนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษ กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป เพราะหากไม่สามารถตกลงกันได้ก่อนเวลาที่กำหนด ก็จะทำให้เกิดการกำหนดพรมแดนระหว่างไอร์แลนด์เหนือ กับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ แบบเข็มงวดที่เรียกว่า hard border ซึ่งจะต้องมีการตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านตรวจศุลกากรเหมือนกับเป็น 2 ส่วนแยกจากกัน ซึ่งจะส่งผลกระทบในหลายด้านเช่นด้านความมั่นคง ด้านการค้า โดยอาจนำไปสู่การเกิดความแตกแยก และนำไปสู่ปัญหาการเมืองของไอร์แลนด์เหนือรอบใหม่ หลังจากที่สงบลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2006

ปัจจุบันนี้ประชาชนยังสามารถข้ามพรมแดนได้อย่างเสรี รวมถึงการขนส่งอาหารและสิ่งของอย่างเสรีภายใต้เงื่อนไขการเป็นตลาดเดียวและสหภาพศุลกากรของ EU โดยไม่ต้องผ่านการตรวจสอบด้านศุลกากร แต่หลังจากวันกำหนดที่จะถอนตัวและยังไม่สามารถมีข้อตกลงใด ๆ ก็จะเกิด hard border และปัญหาด้านความมั่นคงที่จะตามมา

ทางสหภาพยุโรปเองก็ได้เสนอแผนให้อังกฤษพิจารณาที่เรียกกันว่า backstop plan ซึ่งเสนอให้ไอแลนด์เหนือคงกฎเกณฑ์การค้าเดิม คือ ไอร์แลนด์เหนือเสมือนอยู่ในเงื่อนไขการเป็นตลาดเดียว และยังคงอยู่ในสหภาพศุลกากรของ EU แต่ทางอังกฤษเอง ก็มีความเห็นว่า แผนดังกล่าวจะเป็นการแบ่งแยกสหราชอาณาจักรออกจากกัน

นายบอริส จอห์นสัน ก็มีทิศทางว่า หากจะต้องเปิดเจรจากับ EU ก่อนวันครบกำหนดการแยกตัวอีกครั้ง ก็จะต้องไม่มีเงื่อนไขของ backstop plan อยู่ในเงื่อนไขการเจรจา มิฉะนั้น อังกฤษก็พร้อมจะแยกตัวออกไปแบบไร้ข้อตกลง

แต่ปัญหายังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ ทำให้ สส. อังกฤษหลายคนไม่พอใจ เพราะไม่ได้ต้องการให้อังกฤษแยกตัวแบบไร้ข้อตกลง ที่อาจจะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษอย่างรุนแรง

จากข้างต้นทำให้มองเห็นถึงความซับซ้อน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และแน่นอนว่า นักลงทุนก็เห็นในประเด็นดังกล่าว จึงทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยอดีต ค่าเงินปอนด์ เทียบเป็นเงินบาท เคยแข็งค่ามากที่สุด ที่ระดับ 95 บาทต่อปอนด์ เมื่อปี 1995 และอยู่ในระดับ ประมาณ 43 บาทต่อปอนด์ในปี 2018 แต่ปัจจุบัน ในเดือนสิงหาคม 2019 นี้ ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงมาสู่ระดับ 37 บาทต้นๆ ต่อปอนด์ หรือเพียงแต่ 1 ใน 3 ของระดับสูงสุดเลยทีเดียว

ทั้งนี้ CIO Office คาดว่า แม้ว่าเหตุการณ์ความคลุมเครือทางการเมืองจะกดดันให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าต่อได้อีกระยะหนึ่ง แต่เรามีความเห็นว่า หลังจากนักลงทุนได้ Price in จากปัจจัยลบของค่าเงินปอนด์ให้อ่อนค่าลงไปมากแล้ว ค่าเงินปอนด์มีแนวโน้มเริ่มกลับมามีทิศทางแข็งค่าขึ้นได้ จากกรณีที่ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ โดยการแยกตัวแบบมีข้อตกลง หรือ มีการเลื่อนกำหนดเส้นตายออกไปจาก 31 ต.ค.นี้ หรือ มีการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งหานายกคนใหม่ ซึ่งก็น่าจะเป็นปัจจัยบวกให้กับค่าเงินปอนด์ได้

อย่างไรก็ตาม มีเพียงกรณีเดียวที่จะทำให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าต่อไปอีก คือ กรณีที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรปแบบไร้ข้อตกลง ในวันกำหนดเส้นตาย 31 ต.ค. ซึ่งเราเชื่อว่ามีโอกาสเกิดน้อยกว่าทางเลือกอื่นที่กล่าวข้างต้น เพราะทั้งสองฝ่ายควรจะหาทางออกให้ถึงที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง และหากนักลงทุนท่านใดมีความต้องการใช้เงินปอนด์อยู่แล้วในอนาคต ก็เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจในการเข้าเก็บสถานะเงินปอนด์ ณ ช่วงเวลานี้