posttoday

ธปท.ลดจีพีดีเดือนหน้าคาดส่งออกติดลบหนัก

19 สิงหาคม 2562

ธปท.ประกาศเดือนหน้าหั่นจีดีพีไทยลงอีก หลังสงครามการค้าขยายวงไม่จบ กระทบส่งออกไทยสาหัส

ธปท.ประกาศเดือนหน้าหั่นจีดีพีไทยลงอีก หลังสงครามการค้าขยายวงไม่จบ กระทบส่งออกไทยสาหัส

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวและเปราะบางเพิ่มมากขึ้น ปัญหาสงครามการค้าที่ไม่คาดคิดว่าจะมีก็เกิดขึ้นและลามขยายวงขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีสัญญาณที่จะยุติลงง่ายๆ สร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจทั้งโลก

นอกจากนี้ยังมีปัญหารออกจากกลุ่มยุโรปของประเทศอังกฤษ และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในแต่ละภูมิภาค เป็นปัจจัยเสี่้ยงของเศรษฐกิจโลกให้มีความผันผวนและไม่แน่นอนมากขึ้น

ผู้ว่า ธปท. กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวทั้งหมดส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยที่เป็นเศรษฐกิจเปิดและมีขนาดเล็ก จากเดิมต้นปี 2562 ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.8% พอมาถึงเดือน มิ.ย. 2562 ธปท.ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจเหลือ 3.3% จากการส่งออกที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก

"ในเดือน ก.ย. 2562 ธปท. จะปรับประมาณการเศรษฐกิจลดลงจากเดิมอีก เพราะสงครามการค้าไม่มีท่าทางจะจบ กระทบกับการส่งออกมาก ครึ่งปีแรกขยายตัวติดลบ 4-5% นอกจากนี้ตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศล่าสุดขยายตัวได้ 2.3% ก็ถือว่าขยายตัวได้ต่ำ" นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า การส่งออกที่ขยายตัวติดลบมากๆ ทำให้การผลิตในประเทศลดลง กระทบกับรายได้ของแรงงาน ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอไปด้วย ขณะที่การลงทุนภาครัฐล่าช้าการใช้เงินงบประมาณปี 2563 จากที่ต้องเริ่มใช้ได้ในเดือน ต.ค. 2562 ซึ่งต้องเลื่อนออกไปคาดว่าจะเริ่มเบิกจ่ายในเดือน ก.พ. หรือ มี.ค. 2563

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดเงิน และตลาดทุนโลก เนื่องจากสภาพคล่องในระบบการเงินของโลกมีมาก จากการดำเนินนโบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึง ธปท. ก็ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% เหลือ 1.50% ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างรวดเร็ว กระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร รวมถึงอัตราดอกเบี้ยในประเทศ

"ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่าประเทศคู่ค้า ธปท. ไม่สบายใจ ข้อเท็จจริงประการแรกค่าเงินบาทแข็ง เศรษฐกิจไทยได้ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกน้อยกว่าประเทศอื่น ก็ทำให้ค่าเงินบากแข็งค้าขึ้น" นายวิรไท กล่าว

นอกจากนี้ ค่าเงินบาทไทยยังแข็งค่าจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ตั้งแต่ต้นปีถึงเดิอน มิ.ย. เกินดุล 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ คาดว่าทั้งปีจะเกินดุล 2.8-2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ 5-6% ของจีดีพี

ที่ผ่านมา ธปท. ได้แทรกแซงเพื่อดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเร็วเกินไป การออกมาตรการให้การนำเงินเข้ามาเก็งกำไรทำได้ยากขึ้น ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมถึง ธปท. เข้าไปแทรกแซงโดยตรงเห็นได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศสูงขึ้นจากต้นปี 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ตอนนี้เพิ่มเป็น 2.5 แสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม ธปท. ต้องการให้ผู้ประกอบการปรับตัวรับมือความผันผวนค่าเงินที่มีมากขึ้นในอนาคต โดยการใช้สกุลเงินท้องถิ่นซื้อขายสินค้าแทนเงินดอลลาร์มากขึ้น การซื้อป้องกันความเสี่ยง ไม่สามารถรอให้ ธปท. เข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียวได้