posttoday

เช็คสุขภาพ"เอไอเอส"หุ้นทำเงิน"เทมาเส็ก"

19 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ คอร์ปอเรตโฟกัส

คอลัมน์ คอร์ปอเรตโฟกัส

เรื่อง เช็คสุขภาพ"เอไอเอส"หุ้นทำเงิน"เทมาเส็ก"

โดย พูลศรี เจริญ

............................................................

ข่าวใหญ่ที่มีส่วนให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงต่ำกว่าระดับ 1,600 จุด เมื่อวันที่ 15 ส.ค.62 ก็คือ การขายหุ้นบิ๊กล็อตบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) มูลค่า 1.56 หมื่นล้านบาท ของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์

อินทัช แจ้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัท หลังจากที่แอนเดอร์ตัน อินเวสเมนต์ (แอนเดอร์ตัน) และบริษัท แอสเพน โฮลดิ้งส์ (แอสเพน) ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ในอินทัชรวม 257.1 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 8.02% ว่าภายหลังการขายหุ้นครั้งนี้ ทำให้แอสเพนไม่มีหุ้นคงเหลืออยู่ในอินทัช

ขณะที่แอนเดอร์ตัน ถือหุ้นคงเหลือ 9.99 % จากเดิม 15.90 % ส่วนบริษัท สิงเทล โกลบอล อินเวสเมนต์ (สิงเทล) ถือหุ้นในระดับเดิมที่ 21%

อินทัช ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารงาน การจัดการ ตลอดจนนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด

เมื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ถือหุ้นอินทัช พบว่า หลังการขายหุ้นของแอนเดอร์ตัน และแอสเพนครั้งนี้ ส่งผลให้กลุ่มเทมาเส็ก คงเหลือถือหุ้นอินทัชผ่านทางแอนเดอร์ตันและสิงเทล รวม 30.99 % จากเดิมถือ 39.1 % ส่วนที่เหลืออีก 69.01% เป็นการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายอื่น

จะว่าไปแล้วการปรับพอร์ตในหุ้นอินทัชของเทมาเส็ก มีมาเป็นระยะๆ โดยการปรับพอร์ตครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน หรือเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2559 แอสเพน ได้ขายหุ้นอินทัช ล็อตใหญ่ให้สิงเทล สัดส่วน 21% ที่ราคา 60.83 บาท คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนราว 40,959 ล้านบาท หลังการขายทำให้สัดส่วนถือหุ้นในขณะนั้นเหลือ 19.5 % เรียกได้ว่าเป็นการปรับพอร์ตกันภายในกลุ่ม

ทั้งนี้ เทมาเส็ก ได้เข้ามาลงทุนในอินทัช เมื่อ 13 ปีก่อน ด้วยการซื้อหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น (ชื่อเดิม) จากตระกูลชินวัตร เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 ทั้งหมด 49.59 % ราคาหุ้นละ 49.25 บาท รวมมูลค่า 7.32 หมื่นล้านบาท จนถึงขณะนี้ได้รับเงินปันผลกลับประเทศสิงคโปร์ไปกว่าหนึ่งแสนล้านบาทแล้ว

อินทัช ได้ฉายาว่าเป็นหนึ่งในหุ้นห่านทองคำ หรือหุ้นจ่ายปันผลดีมาโดยตลอด แหล่งรายได้หลัก หรือเครื่องผลิตเงินของอินทัช คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส

ปัจจุบัน เทมาเส็ก ยังถือหุ้นโดยตรงในเอไอเอสอีกด้วยโดยผ่านบริษัท สิงเทล สตราทิจิก อินเวสเมนต์ สัดส่วน 23.32 % (ข้อมูลผู้ถือหุ้น ณ 21 ก.พ.62) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือมาร์เก็ตแคปของเอไอเอสอยู่ที่ 6.48 แสนล้านบาท ส่วนอินทัช มีมาร์เก็ตแคป 1.99 แสนล้านบาท (ณ 16 ส.ค.62)

เมื่อเช็คสุขภาพเอไอเอส หุ้นทำเงินของเทมาเส็ก พบว่าตลอด 13 ปีมานี้ อาจกล่าวได้ว่าเครื่องผลิตเงินยี่ห้อเอไอเอสยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้จะอ่อนล้าลงบ้าง

ขณะที่ล่าสุดได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 3.78 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,239 ล้านบาท คิดเป็น 73 % ของกำไรสุทธิ

ข้อมูลจากคำอธิบายบทวิเคราะห์ข์องฝ่ายบริหารเอไอเอส ประจำไตรมาส 2/2562 ระบุว่า ครึ่งปีแรกเอไอเอส มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเท่ากับ 38,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10 % เทียบกับปีก่อน โดยมาจากกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อม (อีบิตดา) ที่เพิ่มขึ้น และการเคลียร์ค่าบริการเครือข่ายระหว่างประเทศ

ซึ่งกระแสเงินสดจากการดำเนินงานครอบคลุมการใช้เงินทุนในครึ่งแรกของปีทั้งหมด ได้แก่การจ่ายชำระเงินกู้ยืมสุทธิ 11,689 ล้านบาท เงินลงทุนโครงข่าย 9,443 ล้านบาท และการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังของปี 2561 จำนวน 9,812 ล้านบาท ทำให้โดยสรุปบริษัทมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเท่ากับ 11,198 ล้านบาท

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2562 ทั้งปี เอไอเอส คาดการณ์รายได้การให้บริการหลักจะเติบโตด้วยอัตราเลขตัวเดียวระดับกลางเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรวมคาดว่าอัตรากำไรอีบิตดา (คำนวณจากอีบิตดาหารด้วยรายได้รวม) ในปี 2562 จะใกล้เคียงกับปีก่อน(ปี 2561 มีอีบิตดามาร์จิ้นอยู่ที่ 43.4 %) และมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 70 % ของกำไรสุทธิ

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการเติบโตในปี 2562 เอไอเอสจะยังคงงบการตลาดที่เพียงพอเพื่อรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงการขยายการเติบโตในธุรกิจอื่นๆ นอกจากนี้ ยังคงแผนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาระบบการทำงานและการบริการเพื่อรักษาระดับต้นทุนให้เหมาะสม

ในขณะที่มีการลงทุนขยายโครงข่ายต่อเนื่อง และด้วยปัจจุบันที่เอไอเอสมีคลื่นความถี่หลากหลายในย่าน 900/1800/2100 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อพร้อมรองรับการเติบโตของ 4G/3G จึงตั้งงบลงทุนสำหรับปี 2562 ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 20,000 – 25,000 ล้านบาท สำหรับเสริมความจุของ 4G เป็นหลัก โดยคำนึงถึงรูปแบบของการใช้งานโครงข่าย 5G ในอนาคต และเน้นรักษาสมดุลระหว่างการลงทุนและการสร้างผลตอบแทน ทั้งนี้งบการลงทุนดังกล่าวได้รวมงบสำหรับการขยายธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 4,000 – 5,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ เอไอเอส ยังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีไม่หยุดยั้ง ล่าสุดได้ประเดิมทดสอบควบคุมรถไร้คนขับระหว่าง กรุงเทพฯ - หาดใหญ่ ผ่านระบบ 5G หวังใช้เป็นต้นแบบของการพัฒนานวัตกรรม ก่อนขยายศึกษารูปแบบการนำไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวว่า การทดสอบนำเครือข่าย 5G มาใช้งานในการควบคุมรถยนต์ไร้คนขับในวันนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการนำเครือข่าย 5G มาใช้งาน

มุมมองนักวิเคราะห์ต่อการลดพอร์ตหุ้นอินทัชของเทมาเส็กครั้งนี้ถือเป็นเรื่องปกติ โดยบทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคที ซีมิโก้ ระบุ เทมาเส็กเป็นเพียงผู้ลงทุนไม่ได้มีส่วนในการบริหารงาน และการตัดสินใจด้านการบริหารเป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ สิงเทล จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของอินทัช

บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุว่า ผลการดำเนินงานเอไอเอส ยังเหมือนเดิม และยังมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเช่นเดิมจากการรับเงินปันผลของเอไอเอส คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากปันผล 4-5 %ต่อปี

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า ยังคงมุมมองเดิมต่อปัจจัยพื้นฐานของอินทัช โดยคาดว่าแนวโน้มกำไรครึ่งหลังของปี 2562 จะฟื้นตัวเด่น จากช่วงเดียวกันปีก่อน และจากครึ่งปีแรก

พร้อมคาดว่า ไตรมาส 3/62 อินทัช จะได้รับอานิสงส์จากการหมดอายุโปร Fixed-Speed Unlimited เต็มไตรมาส ส่วนไตรมาส 4/62 ได้ผลประโยชน์จากที่คาดว่าไม่มีตั้งสำรองธุรกิจดาวเทียมสูงเหมือนปีก่อน (ไตรมาส 4/61 ไทยคม มีตั้งสำรองหนี้และดาวเทียม 2,500 ล้านบาท)

ดังนั้น คงคำแนะนำ “ซื้อ” หุ้นอินทัช โดยปรับไปใช้ราคาเป้าหมายเป็นปี 2563 ที่ 73 บาท จากเดิมราคาเป้าหมายปี 2562 ที่ 64 บาท อีกทั้งยังคงเลือกหุ้นอินทัช เป็นหุ้นเด่นในกลุ่มมือถือคู่กับ ADVANC ที่ให้ราคาเป้าหมาย 236 บาท สะท้อนมุมมองเป็นบวกมากขึ้นต่อการฟื้นตัวของกำไรในช่วงที่เหลือของปี 2562 และปี 2563 โดยคาดว่าจะกลับมาเติบโตจากช่วงเดียวปีก่อนอีกครั้งจากครึ่งปีแรกที่กำไรลดลง 16%

ทั้งนี้ อินทัช ได้ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกของปี 2562 ในอัตราหุ้นละ 1.35 บาท คิดเป็นเงินรวม 4,329 ล้านบาท

กำไรสุทธิของอินทัช

-งวด 6 เดือนแรกของปี 2562 กำไรสุทธิ 5,844.65 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.82 บาท

-ปี 2561 กำไสุทธิ 11,490.68 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.58 บาท

-ปี 2560 กำไรสุทธิ 10,673.18 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.33 บาท

-ปี 2559 กำไรสุทธิ 16,397.61 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.11 บาท

-ปี 2558 กำไรสุทธิ 16,077.79 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 5.01 บาท

จากกำไรสุทธิย้อนหลัง 4 ปีของอินทัช จะเห็นได้ว่าฐานกำไรลดลงตั้งแต่ปี 2560

ปัจจุบันอินทัช ประกอบธุรกิจด้านการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ และเทคโนโลยี โดยการถือหุ้นและเข้าไป บริหารงาน (บริษัทโฮลดิ้งส์) การลงทุนของอินทัช แบ่งออกเป็น 3 สายธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจสื่อสาร โทรคมนาคมไร้สาย (เอไอเอส) ธุรกิจดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ (บริษัท ไทยคม) และธุรกิจอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจโฮมช็อปปิ้ง ธุรกิจเกี่ยวกับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และธุรกิจภายใต้โครงการ Venture Capital เป็นหลัก