posttoday

32 นักลงทุนสถาบัน บอยคอตบริษัทปั่นหุ้น

15 สิงหาคม 2562

ปั่นนหุ้นหนาว 32 นักลงทุนสถาบัน นำโดย กบข. ลงนามไม่ลงทุนเพิ่ม

ปั่นนหุ้นหนาว 32 นักลงทุนสถาบัน นำโดย กบข. ลงนามไม่ลงทุนเพิ่ม

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข.ได้ร่วมกับพันธมิตรนักลงทุนสถาบัน 32 แห่ง ลงนามประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ และทำแนวปฏิบัติการระงับลงทุนในบริษัทเอกชนที่มีปัญหาเกี่ยวกับธรรมาภิบาล (อีเอสจี) เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน สอดรับตลาดทุนทั่วโลกที่ต้องการลงทุนกับหุ้นที่รับผิดชอบ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล

นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวว่า กบข.ได้ริเริ่มความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างรับผิดชอบ และทำแนวปฏิบัติการระงับลงทุนสำเร็จเป็นครั้งแรก โดยมีนักลงทุนสถาบันชั้นนำของไทย 32 ราย เข้าร่วม ประกอบด้วย กองทุน กบข. ที่มีสมาชิกประมาณ 1 ล้านคน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ 940,811 ล้านบาท สำนักงานประกันสังคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 22 แห่ง และบริษัทประกันชีวิต 8 แห่ง มีพอร์ตบริหารสินทรัพย์กว่า 10.8 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้แนวทางการร่วมมือครั้งนี้ หากพบบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ กระทำผิด พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ใน 5 ประเด็นร้ายแรง ได้แก่ 1.การปกปิดข้อมูลข้อเท็จจริง 2.การซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายใน (อินไซด์) และการปั่นหุ้น 3.ผู้บริหารองค์กรปฏิบัติตัวไม่โปร่งใส 4.มีการฉ้อฉล และ5.ปิดกั้นการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชี รวมถึงบริษัทที่มีดำเนินงานขัดแย้งต่อหลักการธรรมาภิบาล ก่อให้เกิดผลกระทบทางลบอย่างร้ายแรงต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ทางกลุ่มนักลงทุนสถาบันได้ตกลงร่วมมือกันในการแก้ปัญหา และร้านแรงสุดคือ ไม่เข้าร่วมลงทุนเป็นเวลา 3 เดือน

“มาตรการลงโทษจะเริ่มจากเบาไปหาหนัก หากพบมีบริษัทใดมีปัญหา และถูกประกาศจากสำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ทั้ง 32 บริษัทจะเข้าประสานงานกับบริษัทเพื่อหาทางแก้ปัญหาหรือหาทางออกที่เหมาะสมให้ และท้ายที่สุดหากยังแก้ไขไม่ได้ และมีคำพิพากษาของศาลว่ามีความผิดจริง นักลงทุนสถาบันแต่ละราย จะไม่เข้าลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทที่มีปัญหา ระยะสั้น 3 เดือน หรือจนกว่าจะแก้ไขปัญหาสำเร็จ เพื่อผลักดันให้บริษัทกลับมาดำเนินธุรกิจที่มีความยั่งยืนและสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล และในอนาคตจะมีความร่วมมือเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในบริษัทขนาดเล็กและกลางที่มีธรรมาภิบาลดีด้วย”

ด้านน.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการยกระดับตลาดทุนไทยให้เทียบชั้นตลาดทุนโลก เพื่อยึดหลักประกอบธุรกิจอย่างรับผิดชอบ ซึ่งคณะกรรมการของ ก.ล.ต. พร้อมส่งเสริมแนวทางดังกล่าวหลายช่องทางเพื่อคุ้มครองนักลงทุน

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกิตติศักดิ์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นประเทศแรกของโลก ที่มีบริษัทเอกชน นักลงทุนสถาบันร่วมกันประกาศความร่วมมือ ไม่เข้าไปลงทุนกับบริษัทที่มีปัญหาปั่นหุ้น กระทำผิด เพราะมีกองทุน 99% มาร่วมลงนามร่วมกันครั้งนี้ เนื่องจากกระแสการรับผิดชอบ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล กระจายไปทั่วโลก ขณะที่ธนาคารโลกยังให้การยอมรับแผนดำเนินงานของไทย นับว่าเป็นการยกระดับตลาดทุน