posttoday

ธปท.แจงเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายนยังชะลอตัว

31 กรกฎาคม 2562

ธปท. แถลงเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ

ธปท. แถลงเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน และไตรมาสที่ 2 ปี 2562 ชะลอลงจากเดือนก่อน จากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงในเกือบทุกหมวด โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทนที่หดตัวตามยอดขายยานยนต์ในประเทศและยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อโดยรวมมีทิศทางชะลอลง ตามรายได้รวมลูกจ้างนอก
ภาคเกษตรกรรมที่ขยายตัวชะลอลง ส่วนรายได้เกษตรกรในเดือนนี้ขยายตัวเร่งขึ้นจากราคายางและสับปะรดเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลักอื่นๆ ยังหดตัว สะท้อนผลดีของการปรับดีขึ้นของรายได้ภาคเกษตรกรรมที่กระจายตัวไม่ทั่วถึง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว จากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างที่หดตัว โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างทั่วประเทศหดตัวต่อเนื่องยกเว้นพื้นที่เพื่อการอุตสาหกรรม ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวได้ และเครื่องชี้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวในทุกหมวด เมื่อขจัดผลของฤดูกาลแล้ว เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนจากทั้งเครื่องชี้การลงทุนในหมวดก่อสร้างและหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์

ด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำที่หดตัวตามรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ขณะที่รายจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรขยายตัวได้เล็กน้อย และรายจ่ายลงทุนที่หดตัวตามกรอบงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ปรับลดลง ประกอบกับการเบิกจ่ายงบลงทุน หดตัวจากข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพการลงทุนหลังทบทวนโครงการลงทุนให้สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

ด้านการส่งออกสินค้า การนำเข้าสินค้า และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวต่อเนื่อง สำหรับภาคการท่องเที่ยวกลับมาขยายตัวเล็กน้อยจากนักท่องเที่ยวอินเดียเป็นสำคัญ ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนยังหดตัวต่อเนื่อง

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลงตามราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลง สำหรับอัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลทรงตัวจากเดือนก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุลตามดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมาก ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลสุทธิจากด้านสินทรัพย์