posttoday

"กรณ์"หวั่น ลดภาษี "พปชร." ทำฐานภาษีหาย3ล้านราย

16 กรกฎาคม 2562

"กรณ์" ดันประกันรายได้ หวั่นนโยบายลดภาษี พปชร. ทำรายได้มีปัญหา ดันเก็บภาษีธุรกิจผูกขาดและบริษัทออนไลน์ข้ามชาติ

"กรณ์" ดันประกันรายได้ หวั่นนโยบายลดภาษี พปชร. ทำรายได้มีปัญหา ดันเก็บภาษีธุรกิจผูกขาดและบริษัทออนไลน์ข้ามชาติ

แม้ว่า กรณ์ จาติกวณิช ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อดีต รมว.คลัง จะไม่ได้รับตำแหน่งในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่เจ้าตัวก็ประกาศชัดพร้อมทำงานการเมืองต่อเนื่อง แม้ว่าจะ ไม่ตำแหน่งใดๆ ในรัฐบาล

เมื่อถามกรณ์ ว่า นโยบายเศรษฐกิจของพรรค ปชป. ที่หาเสียงไว้ จะมีนโยบายอะไรที่ถูกใส่ไว้ในนโยบายของรัฐบาลใหม่บ้าง

กรณ์ ตอบทันทีว่า นโยบายอันดับแรกสำคัญที่สุด คือ การประกัน รายได้เกษตรกร เพราะ ปชป. มั่นใจว่าเป็นวิธีการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องราคาพืชผลตกต่ำได้ เป็นวิธีการดีที่สุด ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร มีความคุ้มค่าในการใช้เงินงบประมาณ ไม่รั่วไหล แนวโน้มการทุจริตคอรัปชันไม่มี

ดังนั้น ปชป. จึงตั้งนโยบายประกันรายได้เป็นเงื่อนไขในการเจรจาเข้าร่วมรัฐบาลตั้งแต่แรก ซึ่งตามที่หาเสียง ข้าวราคาไม่ต่ำกว่าเกวียนละ 10,000 บาท ยางพารา ราคาไม่ต่ำกว่า 60 บาทต่อกิโลกรัม และปาล์ม ราคา 10 บาทต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายนโยบาย ที่ ปชป. ได้นำไปเปรียบเทียบกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล มีหลายนโยบายสอดคล้องกันอยู่แล้ว เพียงแต่นำมาปรับให้เข้ากัน ต้องมีการแลกเปลี่ยนกันว่าอาจจะต้องนำนโยบายบางส่วนของ ปชป. ไปผสมกับ พปชร.

นโยยายที่เห็นได้ชัด คือ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งทั้ง 2 พรรคเห็นตรงกันเพื่อลดภาระให้กับชนชั้นกลาง แต่จะลดอย่างไรแนวทางของทั้ง 2 พรรค อย่างต่างกันอยู่มาก

ในส่วนของ ปชป. เสนอนโยบายลดภาษีเงินได้บุคคลธรรม 20% ของที่เสียอยู่ เช่น ผู้เสียภาษีอยู่ 20 บบาท ก็จะจ่ายแค่ 16 บาท และไม่ลดภาษีให้กับผู้เสียภาษีในอัตราสูง เพราะถือว่าเป็นผู้มีรายได้มากก็ควรรับภาระช่วยชาติต่อไป จะเริ่มลดภาษีให้กับผู้ที่เสียภาษีบุคคลในอัตรา 25% ลงมา

แต่ในส่วนนโยบายลดภาษีบุคคลธรรมดาของ พปชร. จะลดอัตราภาษี 10% ซึ่งจะทำให้ฐานภาษีหายไปเลยเพราะทำให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ 5% หรือ 10% จะไม่ต้องเสียภาษีเลย ทำให้ฐานผู้เสียภาษีที่น้อยอยู่แล้วที่ตอนนี้มี 4 ล้านคน จะเหลือแค่ 1 ล้านคนเท่านั้น ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคนไทยที่อยู่ในระบบแรงงาน 35 ล้านคน หากลดภาษีตามนโยบายของ พปชร.

"ผมไม่แน่ใจว่า พปชร. คิดผิดหรือพูดผิด เพราะมันไม่น่าเป็นไป ได้ที่ พปชร. จะคิดอย่างนี้ ซึ่งตอนหาเสียง พปชร. มีการพูดยกตัวอย่างว่า หากเสียภาษี 25% ก็จะลดเหลือเสียภาษี 15% ซึ่งผมบอกว่าผมไม่เห็นด้วย" นายกรณ์ กล่าว

กรณ์ กล่าวว่า รายละเอียดการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงยังต้องหารือกัน ทำโมเดลออกมาว่ามีผลกระทบอย่างไร นอกจากนี้ ปชป. ยังมีการเสนอเก็บภาษีในส่วนของธุรกิจผูกขาด และการเก็บภาษีบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติ ถึงเวลาที่จะเอาจริงกับตรงนี้หรือยัง ทั้งการเก็บภาษีจาก facebook google หรือ amazon เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบ ต้องมาดูว่าทาง พปชร. จะเห็นด้วยที่จะบรรจุการเก็บภาษีนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลหรือไม่

นอกจากยังมีนโยบายเรื่องบัตรสวัสดิการ ปชป. หาเสียงไว้ว่าจะเพิ่มวงเงิน เบี้ยสวัสดิการผู้ยากไร้ 800 บาทต่อเดือน และเบิกเป็นเงินสดได้เลยไม่ต้องใช้เงินได้แค่ซื้อของจากร้านธงฟ้าประชารัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งนโยบายนี้ตอบโจทย์เรื่องเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น ผู้มีสิทธิสามารถเบิกเงินไปซื้่อสินค้าในตลาดสดใกล้บ้านได้มากขึ้น เงินหมุนเวียนในชุมชน

ขณะเดียวกันยังมีนโยบายการแจกเงินเด็ก ที่ ปชป. เสนอนโยบายเกิดปั๊บรับเงินแสน ซึ่งเป็นการแจกเงินให้เด็กแรกเกิดไปจนถึงอายุครบ 8 ปี เดือนละ 1,000 บาท ซึ่ง พปชร. ได้ก๊อปปี้ของ ปชป. ไปเลย ซึ่งนโยบายของ ปชป. ประหยัดเงินงบประมาณมากกว่าของนโยบายแจกเงินเด็กของ พปชร.

สำหรับนโยบายมารดาประชารัฐ ของ พปชร. จะดูแลตั้งแต่คุณแม่ฝากครรภ์ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 9 เดือน รวมสูงสุด 27,000 บาท ค่าคลอดจำนวน 10,000 บาท หลังจากนั้นจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูเด็ก อีกเดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่เกิดจนมีอายุครบ 6 ปี เป็นจำนวนเงินรวมสูงสุด 144,000 บาท รวมตั้งแต่ตั้งครรภ์จนเติบโตอายุถึง 6 ขวบ จะเป็นเงิน 181,000 บาทต่อเด็ก 1 คน

นายกรณ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีปัญหาชะลอตัว ดังนั้นรัฐบาล ต้องเร่งมาตรการระยะสั้น 5-6 เดือน ต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากฟื้นตัว ทำให้ประชาชนรายได้น้อยอยู่ได้ ส่วนโครงการลงทุนขนาดใหญ่เดินหน้าได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ กรณ์ ยังมองว่า การทำงานของ รมว.คลัง คนใหม่ต้องเน้นเรื่องนโยบายและมาตรการที่มีความครีเอทีฟ ต้องเป็นตัวของตัวเอง ไม่ได้ทำแต่งานที่กรมกองเสนอขึ้นมาเท่านั้น

สำหรับการทำงานของกระทรวงพาณิชย์ที่ ปชป. กำกับดูแล นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวติดลบ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจากภัยแล้งรุนแรง และยังมีเรื่องการเจรจาความตกลงหุ้นส่วน ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย