posttoday

คลังเริ่มขายหุ้นที่ไม่จำเป็นต้องถือ

01 กรกฎาคม 2562

คลังประเดิมประมูลขายหุ้น บริษัท หินอ่อน ซึ่งเป็น 1 ใน 20 ของหุ้นกลุ่มแรกที่ไม่มีความจำเป็นต้องถือ

คลังประเดิมประมูลขายหุ้น บริษัท หินอ่อน ซึ่งเป็น 1 ใน 20 ของหุ้นกลุ่มแรกที่ไม่มีความจำเป็นต้องถือ

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังและบริษัท ทุนลดาวัลย์ จากัด จะดำเนินการจำหน่ายหุ้นสามัญ บริษัท หินอ่อน จากัด ที่แต่ละฝ่ายถืออยู่ โดยวิธีการประมูลเป็นการทั่วไปแบบยื่นข้อเสนอราคา และมีกำหนดการ จำหน่ายซองเพื่อยื่นข้อเสนอซื้อหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562

ดังนั้น เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถรับรู้การจำหน่ายหลักทรัพย์ได้ในวงกว้างและก่อให้เกิดการแข่งขัน ในการประมูลหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จึงขอประชาสัมพันธ์ประกาศบริษัท หินอ่อน จำกัด เรื่อง การจำหน่ายหลักทรัพย์ประเภทหุ้นสามัญ บริษัท หินอ่อน จำกัด โดยวิธีการประมูลเป็นการทั่วไป แบบยื่นข้อเสนอราคา ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 ทั้งนี้ สามารถ ดาวน์โหลดข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ทาง www.thaimarble.co.th

สำหรับการขาย บริษัท หินอ่อน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขายหลักทรัพย์ที่กระทรวงการคลังไม่มีความจำเป็นต้องถืออีกต่อไป ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ขายหลักทรัพย์กลุ่มแรก 24 บริษัท เป็นการได้มาจากนิติเหตุ หรือยึดทรัพย์ ซึ่งมีทั้งธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยในส่วนนี้รวมถึงหุ้นบริษัทในกลุ่มเดวิส 4 แห่งด้วย

ทั้งนี้ สคร.คาดว่า จะเริ่มจำหน่ายหุ้นได้ภายในปีนี้ โดยใน 24 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่าน้อย 20 บริษัท และอีก 4 บริษัท ต้องมีการตรวจสอบสถานะทางการเงิน ก่อน เพราะมีมูลค่า จึงต้องสำรวจราคาตลาดที่แท้จริง

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีการถือครองหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 116 แห่ง แบ่งเป็นหลักทรัพย์เอกชน 88 แห่ง ในส่วนนี้แบ่งเป็นหลักทรัพย์ที่มีการล้ม ล้าง เลิกกิจการ 33 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการชำระบัญชี และเป็นการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจอีก 23 แห่ง รวมถึงการถือหุ้นในกองทุนรวมต่างๆ อีก 5 แห่ง โดยตามหลักการจะต้องมาพิจารณาจัดกลุ่มหลักทรัพย์แต่ละส่วนก่อน ซึ่งแบ่งเป็นหลักทรัพย์กลุ่มที่กระทรวงการคลังจำเป็นต้องถือ หลักทรัพย์
ที่ได้มาโดยนิติเหตุ หรือยึดทรัพย์ หลักทรัพย์กลุ่มที่หมดความจำเป็นต้องถือตามนโยบายรัฐบาล และหลักทรัพย์ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เอกชนดำเนินการได้ดี ซึ่งทั้งหมดจะ
ต้องมาพิจารณาแยกเป็นบริษัทจดทะเบียน และไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีกด้วย