posttoday

คปภ.กระตุ้นชาวนาเร่งทำประกันภัยข้าวนาปีก่อน 30 มิ.ย.นี้

19 มิถุนายน 2562

คปภ.เดินสายให้ความรู้ ด้านประกันภัยแก่ภาคธุรกิจและเกษตรกรรม เล็งพัฒนาประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ

คปภ.เดินสายให้ความรู้ ด้านประกันภัยแก่ภาคธุรกิจและเกษตรกรรม เล็งพัฒนาประกันภัยทุเรียนภูเขาไฟ

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ. ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่เป็น 1 ใน 10 จังหวัด ของการจัดโครงการอบรมความรู้ประกันภัย “Training for the Trainers” ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จำนวน 3.67 ล้านไร่ ติดอันดับ 1 ของประเทศ และมีการทำประกันภัยข้าวนาปี จำนวน 1.57 ล้านไร่ คิดเป็น 42.89% ติดอันดับที่ 3 ของประเทศ

ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. มีความคาดหวังว่าปีนี้ จังหวัดอุบลราชธานีจะขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ที่มีการทำประกันภัยข้าวนาปี นอกจากนี้ จังหวัดอุบลราชธานียังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้ง (รอบที่2) จำนวน 12,302 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม

นายสุทธิพล กล่าวว่า คปภ. ได้ให้ความรู้ด้านประกันภัยกับเกษตรกรและภาคส่วนต่างๆในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีอย่างครบวงจร เพื่อทำประกันภัยนาข่าวภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการรับทำประกันภัยข้าวนาปีในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน

นอกจากนี้ คปภ. ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงและเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำสวนทุเรียนภูเขาไฟอีกด้วย

ทั้งนี้ อัตราค่าเบี้ยประกันภัยข้าวนาปีอยู่ที่ 85 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศโดยรัฐบาลอุดหนุน 51 บาทต่อไร่ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุน 34 บาทต่อไร่ ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,260 บาทต่อไร่ ซึ่งเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแม้แต่บาทเดียว หากเป็นเกษตรกรทั่วไปที่ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ส.ก. จะได้รับการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล 51 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรทั่วไปจ่ายส่วนต่างที่เหลือเองแค่ 34 บาทต่อไร่เท่านั้น

ในส่วนของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2562 มีอัตราค่าเบี้ยประกันภัย 59 บาทต่อไร่ ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลอุดหนุน 35 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส. อุดหนุน 24 บาทต่อไร่ ได้รับความคุ้มครองอยู่ที่ 1,500 บาท ซึ่งเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแม้แต่บาทเดียว หากเป็นเกษตรกรทั่วไปที่ ไม่ใช่ลูกค้า ธ.ส.ก. จะได้รับการสนับสนุนเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาล 35 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรทั่วไปจ่ายส่วนต่างที่เหลือเองแค่ 24 บาทต่อไร่