posttoday

ครึ่งปีแล้ว คุณลืมอะไรไปหรือเปล่า?

19 มิถุนายน 2562

ยังเหลือเวลาอีกครึ่งปีหลังที่คุณจะทำตามเป้าหมายที่ยังไม่ได้ทำครึ่งปีแรก โดยเฉพาะเรื่องแผนการลงทุนและแผนการจัดการภาษี

ยังเหลือเวลาอีกครึ่งปีหลังที่คุณจะทำตามเป้าหมายที่ยังไม่ได้ทำครึ่งปีแรก โดยเฉพาะเรื่องแผนการลงทุนและแผนการจัดการภาษี

***********************

คอลัมน์ตลาดนัดการเงิน โดย...บุษยพรรณ วัชรนาคา, CFP K-Expert ธนาคารกสิกรไทย

กระพริบตาแว่บเดียว เวลาก็ล่วงมาจะหมดเดือน 6 แล้ว เข้าทำนองคำเปรยที่กล่าวไว้ว่า “เวลาไปผ่าน ไวเหมือนโกหก” ตั้งแต่ต้นปี หลายๆ คนน่าจะวางแผนไว้ว่าปีนี้จะทำอะไร หรือเลิกทำอะไรบ้าง วันนี้ K-Expert เลยอยากชวนคุณมาเช็คตัวเองใน 3 เรื่องการเงินว่าเป็นอย่างไรบ้าง ได้ทำไปมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่ถ้ายังไม่ได้ทำ หรือทำแล้วยังไม่ได้ผลที่น่าพอใจ ยังมีเวลาเหลือในอีกครึ่งปีหลังสำหรับการปรับเปลี่ยน

เรื่องแรก เป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปี

ปณิธานปีใหม่ หรือ New Year Resolution เป็นสิ่งที่หลายคนชอบทำช่วงต้นปี ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ หรือเลิกทำสิ่งเดิมๆ ที่อยากเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่น ในด้านสุขภาพ บางคนตั้งเป้าเรื่องการลดน้ำหนัก ตั้งใจออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ หรือจะลดละเลิกอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์กับร่างกายลง ส่วนในด้านการเงิน บางคนตั้งใจกับตัวเองว่า ปีนี้จะเก็บเงินมากขึ้น หรือลดค่าใช้จ่ายบางอย่างที่คิดว่าไม่จำเป็น ให้น้อยลง เป็นต้น

คำถามคือ เวลาผ่านไปครึ่งปีแล้ว วันนี้คุณได้ลงมือทำตามเป้าหมายเมื่อต้นปีไว้แล้วหรือยัง?

มีลูกค้าหลายท่านที่เคยมาปรึกษากับ K-Expert ไม่ว่าจะทาง e-mail หรือแวะคุยกับเจ้าหน้าที่ เพื่อวางแผนการเก็บเงินตามเป้าหมาย ส่วนใหญ่มักจะได้รับแผนการเก็บเงินกลับไป และบ่อยครั้งที่พบว่า แผนการเงินนั้นก็จะถูกวางทิ้งไว้หรือเก็บเป็นแผ่นพิมพ์เขียว โดยยังไม่ได้ลงมือทำ

สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ คือ เป้าหมายระยะยาวมักเป็นสิ่งที่ถูกละเลยมากที่สุด โดยเฉพาะแผนเกษียณ เนื่องจากเป็นแผนที่วางกันยาวๆ บางทีสิบปี สิบห้าปี หรือยี่สิบปี การยังไม่เริ่มทำวันนี้ ยังไม่ส่งผลอะไรให้เห็น แต่อย่างไรก็ตาม เป้าหมายระยะยาว วันหนึ่งก็จะกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้นเสมอ ดังนั้น อยากชวนคุณลองทบทวนดูหน่อยว่า เมื่อต้นปีได้เคยตั้งใจวางแผนเก็บเงินไว้อย่างไร แล้ววันนี้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ายังไม่ได้เริ่ม เริ่มกันเลยดีไหม ยังมีเวลา

เรื่องที่สอง เช็คสถานะการลงทุน

สำหรับคนที่มีการลงทุนอยู่บ้างแล้ว สิ่งที่จะชวนให้ทำวันนี้คือ ลองเข้าไปเช็คสถานะการลงทุนของตัวเองกันหน่อยว่าผลกำไรหรือขาดทุนเป็นอย่างไร หุ้นหรือกองทุนที่เลือกซื้อไว้ วันนี้ตัวไหนผลงานดีหรือไม่ดีบ้าง

คนที่ซื้อกองทุนรวมไว้ วิธีเช็คผลการดำเนินงานก็ทำได้ไม่ยาก แนะนำให้ลองเข้าไปอ่าน fund fact sheet ที่สรุปผลตอบแทนไว้ตามช่วงระยะเวลา หากพบว่ากองทุนรวมตัวที่เราซื้อ เริ่มมีผลการดำเนินงานที่ต่ำกว่าเพื่อน หรืออยู่ในช่วงที่ต่ำกว่า 50 percentile แนะนำให้คุณลองติดตามกองทุนรวมตัวนั้นๆ อย่างใกล้ชิดหน่อย หากยังเป็นแบบนี้ไปจนถึงสิ้นปี อาจต้องพิจารณาว่าจะยังคบกันอยู่ต่อไปดีหรือไม่

ส่วนใครที่ลงทุนแบบจัดเป็นพอร์ต สิ่งที่ชวนให้คุณเข้าไปตรวจสอบ คือ ผลตอบแทนรวมทั้งพอร์ตนั้นยังเป็นไปตามที่ตั้งไว้หรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ไม่ว่าจะน้อยกว่าหรือมากกว่า อาจถึงเวลาที่คุณต้องทำการปรับสัดส่วนการลงทุนหรือ Rebalance กันสักหน่อยแล้ว วิธีการปรับสัดส่วนการลงทุนนั้น ก็เพียงแค่ขายตัวที่มี % มากเกินไป (หรือกำไรจนทำให้สัดส่วนเพิ่ม) และซื้อตัวที่ % น้อยเกินไป (หรือขาดทุนจนทำสัดส่วนลด) การ Rebalance แบบนี้จะช่วยปรับให้สัดส่วนการลงทุนของคุณกลับมาเป็นไปตามที่ระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้นั่นเอง

เรื่องที่สาม วางแผนจัดการภาษี

ประเด็นนี้ค่อนข้างใกล้ตัวและพบบ่อยมากๆ โดยเฉพาะการวางแผนซื้อกองทุนรวมประหยัดภาษีต่างๆ อย่าง LTF หรือ RMF คนส่วนใหญ่มักเคยเจอประสบการณ์รอซื้อช่วงปลายปี แล้วก็พบว่าราคามักจะสูง เมื่อขึ้นปีถัดไปก็บอกตัวเองว่า ปีนี้ฉันจะทยอยซื้อเสียตั้งแต่ต้นปีดีกว่า ครั้นเมื่อถึงเวลาจริง ก็อาจลืมบ้างหรือรีรอว่าขออีกเดี๋ยว เผื่อมีช่วงราคาลง ค่อยซื้อ

แล้วคุณล่ะ เป็นแบบนี้บ้างไหม?

หากพบว่า ผ่านไปครึ่งปีแล้ว คุณยังไม่ได้เริ่มเลือกซื้อกองทุนรวมประหยัดภาษีเหล่านี้ ทั้งที่ตั้งใจไว้ และคุณก็ไม่ได้มีเวลาติดตามสถานการณ์ลงทุนอย่างใกล้ชิดมากนัก ทางเลือกหนึ่งที่แนะนำให้ทำ คือ ใช้เครื่องมือเป็นตัวช่วย อย่างการสร้างแผนลงทุนอัตโนมัติหรือตั้งเวลาซื้อกองทุนรวมอย่างสม่ำเสมอเป็นรายเดือน

โดยคุณอาจแบ่งเงินเป็น 2 ก้อน ก้อนหนึ่งใช้วิธีซื้อสม่ำเสมอข้างต้น ส่วนอีกก้อนหนึ่ง เผื่อไว้ทยอยลงทุนในจังหวะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงก็ได้เช่นกัน

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณน่าจะได้คำตอบแล้วว่า ผ่านไปครึ่งปีแล้ว คุณลืมอะไรไปบ้างหรือเปล่า?

ถ้าลืม ยังเหลือเวลาอีกครึ่งปีให้คุณได้ลงมือ