posttoday

เร่งยกระดับการแข่งขัน หลัง WEF ลดอันดับไทยลง 2 อันดับ

06 มกราคม 2553

โพสต์ทูเดย์ – นายกฯห่วงไทยไร้ความสามารถในการแข่งขัน หลังเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ลดอันดับความสารถในการแข่งขันจากลำดับที่ 34 มาอยู่ที่ 36 จากทั้งหมด 131 ประเทศ สั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาปัจจัยที่จะมีผลกระทบ และวางแผนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันระยะยาว

โพสต์ทูเดย์ – นายกฯห่วงไทยไร้ความสามารถในการแข่งขัน หลังเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ลดอันดับความสารถในการแข่งขันจากลำดับที่ 34 มาอยู่ที่ 36 จากทั้งหมด 131 ประเทศ สั่งตั้งคณะกรรมการศึกษาปัจจัยที่จะมีผลกระทบ และวางแผนพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันระยะยาว

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ว่า  ครั้งนี้ที่ประชุมได้รับทราบสถานภาพและความสามารถในการแข่งขันของไทยในปี 2552 ที่จัดทำโดยเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม(World Economic Forum หรือ WEF) โดยเปรียบเทียบผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันที่จัดทำโดยสถาบันการจัดการนานาชาติ หรือ IMD ซึ่ง WEF ได้ลดอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยลง 2 อันดับ จากอันดับที่ 34 ในปี 2551 มาอยู่อันดับที่ 36 ในปี 2552 จากการจัดอันดับทั้งหมด 131 ประเทศ

ขณะที่ IMD ประกาศอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยว่าดีขึ้น 1 อันดับ จากอันดับที่ 27 ในปี 2551 เป็นอันดับที่ 26 ในปี 2552 จากการจัดอันดับทั้งหมด 55 ประเทศ

นายวัชระ เปิดเผยว่า จากข้อมูลของ 2 องค์กรดังกล่าวมีความสอดคล้องกันว่า ไทยมีจุดแข็งด้านการดูแลและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เป็นฐานสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านระดับราคาและการจ้างงาน ส่งผลให้ต้นทุนการประกอบกิจการ ค่าแรง ตลอดจนค่าครองชีพอยู่ในระดับต่ำยังสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ขณะที่ภาคเอกชนก็มีความสามารถทางการตลาดเพิ่มขึ้น สามารถกระจายสินค้าส่งออกโดยไม่ผ่านบริษัทต่างประเทศได้ เข้าถึงแหล่งเงินทุนง่ายขึ้น

แต่ข้อมูลของ 2 องค์กรก็ทำให้เห็นจุดอ่อนของไทยด้วยเช่นกัน ว่าไทยยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้าน ผลิตภาพการผลิตรวม ทักษะ ความพร้อมทางเทคโนโลยี และโดยเฉพาะการที่ไทยมีจุดอ่อนที่ขาดการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา นวัตกรรม ตลอดจนขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่อยู่ในระดับต่ำอาจเป็นจุดอ่อนในการแข่งขันในระยะต่อไป ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้ศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมจาก องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO และหอการค้าต่างประเทศมาร่วมพิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงด้วย

“พอท่านนายกฯฟังข้อมูลนี้แล้ว ก็มองว่าอาจจะมีตัวถ่วงที่ทำให้การแข่งขันของไทยลดลงอีก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยจากโรคร้ายแรง หรือ ปัจจัยอื่นๆ จึงสั่งให้ตั้งคณะกรรมการศึกษาปัจจัยที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะมาเป็นตัวถ่วงการแข่งขันของไทยเพิ่มเติม เพื่อหาแนวทางแก้ไขแล้วนำกลับมาเสนออีกครั้ง” นายวัชระกล่าว

นายวัชระ เปิดเผยต่อว่า ในที่ประชุม นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังได้เสนอต่อที่ประชุมให้มีการวางแผนพัฒนาระยะยาวด้วย เพราะมองว่าที่ผ่านมาไทยมองอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)แค่ระยะสั้น ว่าโตเท่าไร เปรียบเทียบแค่ปีต่อปี เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น ดังนั้นควรมีการวางแผนระยะยาว เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทย ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรด้วย

ดังนั้น นายกฯจึงสั่งการให้ตั้งคณะกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศขึ้น โดยมี นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯเป็นประธาน เพื่อดำเนินการจัดยุทธศาสตร์การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันประเทศในระยะยาว และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)เป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมข้อมูลต่างๆจากหน่วยงาน WEF ,IMD ,JETRO และ หอการค้าต่างประเทศ เพื่อนำมาเสนอต่อที่ประชุมในโอกาสต่อไปด้วย