posttoday

ผ่าทีมเศรษฐกิจบิ๊กตู่2 "ไร้เอกภาพ เชื่อมั่นลด"

12 มิถุนายน 2562

การแบ่งโควตากระทรวงเศรษฐกิจให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลบิ๊กตู่ 2ไร้เอกภาพ ซึ่งเป็นความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้

การแบ่งโควตากระทรวงเศรษฐกิจให้กับพรรคร่วมรัฐบาล ทำให้ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลบิ๊กตู่ 2ไร้เอกภาพ ซึ่งเป็นความเสี่ยงทำให้เศรษฐกิจปีนี้ชะลอตัวมากกว่าที่คาดไว้

************************

เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง

แม้ว่าการจัดโผบุคคลนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 สมัยที่ 2 ยังไม่ลงตัว แต่เมื่อดูจากการจัดสรรโควตากระทรวงเศรษฐกิจให้พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเจอปัญหาไร้เอกภาพ กระทบความเชื่อมันนักลงทุน ลามไปถึงการขยายตัวเศรษฐกิจจะชะลอตัวมากขึ้น

การจัดสรรโควตากระทรวงเศรษฐกิจ พบว่า พรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็นหัวเรือใหญ่การบริหารเศรษฐกิจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สมัยแรกตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ได้คุมกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ แค่ กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน เท่านั้น โดยยังมีชื่อนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้คุมกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังได้แถมกระทรวงคมนาคมอีกบางส่วนในตำแหน่งรมช.

ด้านพรรคภูมิใจไทย ได้คุมกระทรวงเศรษฐกิจใหญ่ ทั้งกระทรวงคมนาคม กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และได้คุมบางส่วนของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในตำแหน่ง รมช.

แม้แต่พรรคการเมืองขนาดเล็กทั้งพรรคชาติพัฒนา ยังได้ดูแลกระทรวงอุตสาหกรรม ในตำแหน่ง รมช. และพรรคชาติไทยพัฒนาได้ดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในตำแหน่ง รมช. เช่นกัน

การจัดสรรกระทรวงเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้การบริหารเศรษฐกิจจะไร้เอกภาพการทำงาน ไม่ไปทิศทางเดียวกัน ต่างฝ่ายต่างแย่งกันทำงานเพื่อสร้างผลงานเอาใจฐานเสียงที่เลือกตั้งเข้ามา

ต่างจากการบริหารเศรษฐกิจรัฐบาลบิ๊กตู่สมัยแรก 5 ปี ที่ผ่านมา ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ มีอำนาจการบริหารเศรษฐกิจเต็มที่ คุมกระทรวงเศรษฐกิจสำคัญไว้ในมือหมด ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน รวมถึงกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยส่งคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจสั่งการได้ไปนั่งคุมทั้งในระดับ รมว. รมช. จนถึงปลัด อธิบดี กรมกองต่างๆ ไว้ทั้งหมด

ที่ผ่านมานายสมคิด จึงสามารถเดินสายสั่งงานกระทรวงต่างๆ ขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะสั่งให้กระทรวงการคลังออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาพใหญ่และเศรษฐกิจฐานราก สั่งให้กระทรวงพาณิชย์เบ่งการส่งออกที่ชะลอตัวกระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ

มีการเดินสายไปกระทรวงคมนาคมบ่อยครั้งเพื่อเร่งโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ไปตรวจเยี่ยมกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเร่งการลงทุน หรือ การเดินสายกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเร่งมาตรการดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ รวมถึงมาตรการกระตุ้นให้ไทยเที่ยวไทย โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้คึกคัก

การคุมอำนาจเบ็ดเสร็จของนายสมคิด ยังล้วงลึกลงไปถึงการทำงานของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีก จึงเห็นนายสมคิดเดินสายตรวจเยี่ยมแบงก์รัฐ ทั้ง ธนาคารออมสินให้เร่งปล่อยสินเชื่อรากหญ้า ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้ออกมาตรการลดหนี้ลดดอกเบี้ยเกษตรกรต่อเนื่อง ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้ปล่อยสินเชื่อบ้านผู้มีรายได้น้อยจนเกิดโครงการบ้านล้านหลัง และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มแบงก์) ให้ปล่อยกู้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก

นอกจากนี้ นายสมคิด ยังเดินสายไปตรวจเยี่ยมรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ทั้ง บริษัท การบินไทย บริษัท ปตท. บริษัท ท่าอากาศยานไทย และการรถไฟแห่งประเทศ (ร.ฟ.ท.) ซึ่งล้วนเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีโครงการใหญ่มูลค่าสูงที่ต้องเร่งลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้สูง

ทั้งหมดยังไม่รวมกับอำนาจมาตรา 44 ของนายกรัฐมนตรี ที่การบริหารเศรษฐกิจของประเทศติดขัดตรงไหน ก็จะมีการออกคำสั่งผ่าทางตันเพื่อให้การบริหารเศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่องทันที ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจมาตรา 44 โยกย้ายผู้บริหารกรมกองด้านเศรษฐกิจที่ไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลให้บรรลุเป้าหมายได้ หรือ การใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ปัญหาการดำเนินโครงการลงทุนที่ติดขัดให้เดินหน้าต่อได้อย่างรวดเร็ว

แต่สำหรับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สมัย 2 ไม่มีอำนาจมาตรา 44 ทำให้รัฐบาลหมดตัวช่วยสำคัญ การบริหารเศรษฐกิจย่อมทำไม่ได้เร็วต่อเนื่องเหมือน 5 ปี ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ความไร้เอกภาพของทีมเศรษฐกิจ นายสมคิด เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จอีกต่อไป การล้วงลูกกระทรวงเศรษฐกิจ และรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในการกำกับดูแลของพรรคการเมืองอื่น ไม่สามารถทำได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้การบังคับทิศทางเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกันได้ยาก

ขณะเดียวกันในหลายกระทรวงเศรษฐกิจ จะเห็นว่ามีรมว. กับ รมช. ต่างพรรคการเมืองกัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่จะทำให้การบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่มีเอกภาพมากขึ้น เพราะต่างคนต่างพรรคการเมืองก็จะพยายามขับเคลื่อนนโยบายที่หาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง ไม่ได้ดูภาพรวมของการบริหารโดยรวม

เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่มีการประกาศเลือกตั้งใหม่ ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ทั้งจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาสงครามการค้ากระทบการส่งออก การบริโภคเอกชนขยายตัวต่ำ การลงทุนภาครัฐเร่งไม่ขึ้นเพราะรอรัฐบาลใหม่ การลงทุนภาคเอกชนไม่ขยับเพราะรอความแน่นอนทางการเมือง ซึ่งพอเห็นทัพเศรษฐกิจใหม่ก็ประเมินได้ว่าจะไร้เอกภาพการทำงาน กระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจ

ล่าสุดสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศการขยายตัวเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2562 ขยายตัวได้เพียง 2.8% และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัว 3.3 - 3.8% มีค่าเฉลี่ย 3.6% ขณะที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจเอกชนและสถาบันการเงินหลายแห่งคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้ จะขยายตัวได้ 3.0-3.3% เท่านั้น ซึ่งทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่ไร้เอกภาพ เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้สาหัสมากขึ้น