posttoday

คลังชงเก็บภาษีลาภลอยและอี-บิซิเนส

10 มิถุนายน 2562

คลังเดินหน้าเก็บภาษีลาภลอย และภาษีอี-บิซิเนส แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศที่โกยรายได้ในไทย ชง รมว.คลังและรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ

คลังเดินหน้าเก็บภาษีลาภลอย และภาษีอี-บิซิเนส แพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศที่โกยรายได้ในไทย ชง รมว.คลังและรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. จะยืนยันร่างกฎหมายการเงินการคลังทุกฉบับให้ รมว.คลังคนใหม่ และ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เห็นชอบเดินหน้าพิจจารณาต่อ เพราะถือเป็นกฎหมายที่้สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เมื่อมีรัฐบาลใหม่กฎหมายที่ค้างอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ของคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงกฎหมายที่ สศค. เสนอให้ ครม. เห็นชอบ จะถูกส่งกลับมาให้กระทรวงการคลังยืนยัน ซึ่ง สศค. จะยืนยันเดินหน้ากฎหมายทุกฉบับที่เคยเสนอในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา เพราะมีการพิจารณามาแล้วเป็นกฎหมายที่ดี

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องอยู่กับ รมว.คลัง คนใหม่ด้วยว่า จะเห็นด้วยกับ สศค. และจะเสนอให้ ครม. ยืนยันพิจารณากฎหมายทั้งหมดต่อหรือไม่

นายลวรณ กล่าวว่า ตัวอย่างกฎหมายการเงินที่สำคัญที่ต้องเสนอเดินหน้าต่อ ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ (ภาษีลาภลอย) สำหรับเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ที่จะเก็บภาษี 5% จากโครงการเชิงพาณิชย์ที่มูลค่าเพิ่มจากการสร้างรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง สนามบิน ท่าเรือ ในรัศมี 5 กิโลเมตร ในโครงการที่เกิน 50 ล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ที่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีแวต) จากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิซิเนส) สำหรับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในต่างประเทศ แต่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และมีรายได้เกิดในประเทศไทย เช่น ไลน์ เฟสบุ๊ค ยูทูป เว็บไซต์จองโรงแรงที่พัก โหลดเพลงและภาพยนตร์ เป็นต้น จะทำให้ประเทศเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการไทยที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และต้องเสียภาษี มีการคาดกันว่าจะทำให้เก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังมีพ.ร.บ. การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งจะมีการการจัดตั้งหน่วยงานและแนวทางในการกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงินที่ยังไม่อยู่ภายใต้กำกับของหน่วยงานใดๆ เช่น สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้กำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) และสินเชื่อที่มีการรับสมุดคู่มือจดทะเบียนรถเป็นประกันการชำระหนี้ (สินเชื่อทะเบียนรถ) และบริการทางการเงินที่มีลักษณะคล้ายการให้สินเชื่อ ได้แก่ การให้เช่าซื้อ การให้เช่าแบบลีสซิ่ง และแฟคตอริ่ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีความเกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ ยังมี พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล ส่วนนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเก็บรายได้เข้าประเทศโดยตรง แต่เป็นกฎหมายที่จะเพิ่มความสะดวกให้กับบุคคลบริหารทรัพย์สินได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ พ.ร.บ. การบริหารจัดการบัญชีเงินฝากที่ไม่มีการเคลื่อนไหวของสถาบันการเงินเกิน 10 ปี ให้โอนเงินดังกล่าวมาให้กระทรวงการคลังดูแล ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นต้น