posttoday

กยศ.เร่งตาม "นักเรียนเบี้ยวหนี้" 2.2 ล้านราย มูลค่า 7.4 หมื่นล้านบาท

07 มิถุนายน 2562

กยศ. เผยตัวเลขนักเรียนนักศึกษาที่เบี้ยวหนี้ กลุ่มผิดนัดชำระแต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 1.1 ล้านราย เงินค้างชำระ 2 หมื่นล้านบาท กลุ่มถูกดำเนินคดีแล้ว 1.1 ล้านราย เงินค้างชำระ 5.4 หมื่นล้านบาท

กยศ. เผยตัวเลขนักเรียนนักศึกษาที่เบี้ยวหนี้ กลุ่มผิดนัดชำระแต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 1.1 ล้านราย เงินค้างชำระ 2 หมื่นล้านบาท กลุ่มถูกดำเนินคดีแล้ว 1.1 ล้านราย เงินค้างชำระ 5.4 หมื่นล้านบาท

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  เปิดเผยว่าสาเหตุที่นักเรียนหรือนักศึกษาที่เรียนจบแล้วแต่ผิดนัดชำระหนี้ หรือ ไม่ยอมจ่ายหนี้คืน กยศ.แบ่งได้ 3 ประเภท คือ กลุ่มที่ 1.นักเรียนนักศึกษาที่ยากจนจริงๆ เมื่อจบการศึกษาไปแล้วยังไม่มีงานทำ หรือ ไปทำงานอยู่ในภาคเกษตรแต่อาจประสบปัญหาสภาพคล่องด้านเงินทุนและเป็นหนี้ภาคเกษตรจึงไม่อาจชำระหนี้ได้ นักเรียนนักศึกษาประเภทนี้จำนวนน้อยมากๆ  กลุ่มที่ 2 "ขาดจิตสำนึก" แม้มีงานทำและมีรายได้แต่ไม่ยอมจ่ายหนี้คืน กยศ.  และ กลุ่มที่ 3 "ขาดวินัยการเงิน" หลังจากเรียนจบและมีงานทำแล้ว แต่ไม่ยอมใช้หนี้คืน กยศ. เพราะขาดวินัยทางการเงิน กล่าวคือ เมื่อทำงานมีรายได้ จะไปก่อหนี้ก่อน เช่น ซื้อรถยนต์ จ่ายบัตรเครดิต จากการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เหลือจึงนำเงินมาใช้จ่ายทั่วไปที่จำเป็น หรือ เก็บออม จนในที่สุดไม่มีเงินเหลือพอชำระหนี้ กยศ. ซึ่งวินัยการเงินที่แท้จริง คือ เมื่อมีรายได้จะต้องชำระหนี้ก่อนเป็นอันดับแรก และเก็บเป็นเงินออมไว้ส่วนหนึ่ง ที่เหลือจึงนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่จำเป็น ดังนั้นจึงเป็นที่มาทาง กยศ.จึงจัดกิจกรรมให้ความรู้วินัยการเงินแก่นักเรียนนักศึกษาของ กยศ. 

"นักเรียนนักศึกษาที่ผิดนัดชำระหนี้ หรือ ไม่จ่ายหนี้ ทั้งในกลุ่มที่ขาดวินัยการเงิน หรือ กลุ่มที่ขาดจิตสำนึก ปัจจุบันสังคมเริ่มเข้าใจ กยศ. เช่น กยศ.ทวงหนี้ บางคนไม่ยอมจ่ายหนี้คืน กยศ. แต่กลับโพสต์เฟสบุ๊กโชว์ ซื้อรถยนต์คันใหม่ เอาเงินไปเปลี่ยนล้อแม็คใหม่ หรือไปซื้อโทรศัพท์มือถือใหม่ แต่กลับไม่ยอมชำระหนี้ กยศ. นี่คือเหตุผลที่กระแสสังคมตีกลับ เข้าใจการทำงานติดตามทวงหนี้ของ กยศ. ว่าไม่ได้กลั่นแกล้งเด็ก แต่ต้องการให้เด็กคืนเงินเพื่อส่งต่อเงินดังกล่าวเป็นโอกาสไปยังเด็กรุ่นต่อๆไป" นายชัยณรงค์ กล่าว

ทั้งนี้กองทุนมีนโยบายสนับสนุนการสร้างวินัยทางการเงินให้กับผู้กู้ยืม โดยได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนให้นักเรียน นักศึกษาที่เป็น  ผู้กู้ยืมเงินได้เรียนรู้หลักสูตรเงินทองต้องวางแผนผ่านระบบ e-learning เพื่อเป็นการส่งเสริมวินัย     ทางการเงินรู้จักวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างเหมาะสม และมีเทคนิคการจัดการเงินอย่างถูกวิธี ตลอดจนสามารถวางแผนชำระคืนเงินกู้ยืมได้ตามกำหนด ซึ่งการเรียนผ่าน e-learning นับเป็นทางเลือกในการนับเป็นชั่วโมงจิตอาสาของผู้กู้ยืมเงิน เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเข้าเรียนออนไลน์ผ่านระบบ e-Studentloan เมื่อเรียนจบหลักสูตรผู้กู้ยืมสามารถพิมพ์ประกาศนียบัตร       (e-Certificate) ไปยื่นให้กับสถานศึกษา และจะได้นับเป็นชั่วโมงจิตอาสาจำนวน 3 ชั่วโมง นำไปสะสมจำนวนชั่วโมงจิตอาสาให้ครบตามที่กองทุนกำหนด ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป  ทั้งนี้ ที่ผ่านมากองทุนได้กำหนดให้ผู้กู้ยืมใช้เกณฑ์การนับชั่วโมงจิตอาสา 36 ชั่วโมงเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคัดเลือกผู้กู้ยืมเงิน หากผู้กู้ยืมเงินมีวินัยทางการเงินก็จะสามารถวางแผนชำระหนี้กยศ.  ได้ตามกำหนด เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้อง และคาดว่าจะช่วยลดการเกิดเบี้ยปรับและลดปริมาณการฟ้องร้องคดีได้ต่อไป

"ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนฯ ได้ออกระเบียบเพื่อให้สิทธิสำหรับกลุ่มผู้กู้ยืมปกติที่ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งถือว่าเป็นผู้กู้ยืมชั้นดีหรือผู้กู้ยืมที่อยู่ในช่วงปลอดหนี้และมีความตั้งใจในการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับรุ่นน้องก่อนกำหนด หากมาชำระหนี้ปิดบัญชีจะได้รับการลดหย่อนเงินต้น 3% ณ วันที่ชำระหนี้ปิดบัญชี ที่เคาน์เตอร์ธนาคารกรุงไทย หรือ เคาน์เตอร์ธนาคารอิสลาม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป" นายชัยณรงค์ กล่าว

นายชัยณรงค์ กล่าวว่าสำหรับการให้การสนับสนุนให้นักเรียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนโดยเฉพาะสายวิชาชีพทาง กยศ. ได้ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เพื่อจัดทำ “โครงการส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” โดยจะดำเนินการระหว่างปีการศึกษา 2562 – 2566 (5 ปีการศึกษา) สำหรับนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับปริญญาตรี เมื่อสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชา  ที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 30 สำหรับนักเรียน/นักศึกษาผู้กู้ยืมเงินในระดับอาชีวศึกษา เมื่อสำเร็จการศึกษา ในสาขาวิชาที่กำหนดจะคิดดอกเบี้ยอัตราไม่เกินร้อยละ 0.5 ต่อปี และได้ส่วนลดเงินต้นร้อยละ 50 ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเพิ่มกำลังแรงงานในอนาคตที่สามารถตอบสนองความต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจให้ตรงกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0
 
ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ประกอบด้วย 1) อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร  6) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 7) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 8) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 10) อุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร และ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ 1) อุตสาหกรรมระบบราง 2) อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวี และ 3) อุตสาหกรรมโลจิสติกส์

โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับอาชีวศึกษาเห็นความสำคัญของสาขาวิชาที่เป็นความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย และสนใจอยากเข้าศึกษาเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการต่อยอดให้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และ 3 โครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นความต้องการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น EEC และเป็นการ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ที่กำลังศึกษาหรือกำลังจะเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี และระดับอาชีวศึกษาที่อยู่ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเป็นการป้อนกำลังคนในสายอาชีวะ/สายวิชาชีพ ที่ยังขาดแคลนให้ตลาดแรงงานอื่นๆ

สำหรับข้อมูล สถานะการดำเนินงานกองทุนฯ ณ 30 เมษายน 2562   กองทุนมีผู้กู้ยืมทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น  5.6 ล้านราย คิดเป็นเงิน 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
- ผู้กู้ที่อยู่ในช่วงกำลังศึกษา/อยู่ในช่วงปลอดหนี้  9.7 แสนราย
- ผู้กู้ที่ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1 ล้านราย
- ผู้กู้ที่เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 6 หมื่นราย
- ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.6 ล้านราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 4.1 แสนล้านบาท

ผู้กู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ แบ่งเป็น
- ชำระหนี้ปกติ   1.5 ล้านราย
- ผิดนัดชำระหนี้  2.1 ล้านราย เป็นเงินค้างชำระ 7.4 หมื่นล้านบาท

ผู้กู้ยืมผิดนัดชำระหนี้ แบ่งเป็น
- กลุ่มผิดนัดชำระแต่ยังไม่ถูกดำเนินคดี 1.1 ล้านราย เป็นเงินค้างชำระ 2 หมื่นล้านบาท
- กลุ่มถูกดำเนินคดี 1.1 ล้านราย เป็นเงินค้างชำระ 5.4 หมื่นล้านบาท