posttoday

เอกชนวอนจัดประเภทกิจการมาบตาพุด อย่ายึดตามขนาด

05 มกราคม 2553

โพสต์ทูเดย์-เอกชนตั้งข้อสังเกตจัดประเภทกิจการรุนแรงโครงการมาบตาพุด อย่ายึดตามขนาดโรงงานให้พิจารณาจากเทคโนโลยีการลดมลพิษ

โพสต์ทูเดย์-เอกชนตั้งข้อสังเกตจัดประเภทกิจการรุนแรงโครงการมาบตาพุด อย่ายึดตามขนาดโรงงานให้พิจารณาจากเทคโนโลยีการลดมลพิษ

นายธงชัย พรรณสวัสดิ์ หนึ่งในคณะกรรมการร่วม 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบชุมชนอย่างร้ายแรง เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 ม.ค. จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการฯก่อนในช่วงเช้า โดยจะนำ 19 กิจการเดิมที่เคยผ่านการทำประชาพิจารณ์ และจัดทำร่างประกาศแล้วมาทบทวนใหม่ เพื่อนำเหตุผลของทุกฝ่ายมาพิจารณาร่วมกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ต่อการกำหนดประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรงให้มีความชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ ภาคเอกชนเห็นว่าการกำหนดประเภทและขนาดกำลังการผลิตของบางกิจการ ยังไม่เหมาะสม เช่น กำหนดประเภทกิจการปิโตรเคมีขนาดกำลังการผลิตวันละ 100-500 ตัน ขึ้นไป ภาคเอกชนเห็นว่าไม่ควรกำหนดขนาดดังกล่าว เพราะแต่ละโรงงานใช้เทคโนโลยีไม่เหมือนกัน ขนาดกำลังการผลิตที่เท่ากันไม่ได้หมายความจะปล่อยมลพิษได้เท่ากัน เพราะท้ายสุดขึ้นอยู่กับระบบเทคโนโลยีที่ติดตั้งและระบบการจัดการหากเทคโนโลยีสูง จัดการดี การปล่อยมลพิษก็ต่ำ  

“ คณะอนุกรรมการจะเปิดให้ภาคเอกชนนำเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุนประเด็นที่ไม่เห็นด้วย โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการ วิศวกรรม อุตสาหกรรม เป็นต้น มาให้ร่วมรับความเห็นและเหตุผลของเอกชนว่าเหมาะสมเพียงพอที่จะตัดออกจากข้อกำหนดเดิมหรือไม่”นายธงชัยกล่าว

 ทั้งนี้ หลังจากที่คณะอนุกรรมการได้สรุปประเภทกิจการรุนแรงเบื้องต้นแล้ว ทางคณะอนุกรรมการฯก็จะจัดทำเวทีรับฟังความเห็นคิดในเชิงเทคนิคจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ  ก่อนที่จะนำไปทำประชาพิจารณ์รับความความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดอีกครั้ง คาดว่าจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2 เดือน และนำเสนอให้คณะกรรมการร่วม 4 ฝ่ายฯพิจารณาเห็นชอบแล้วก็จะเสนอให้รัฐบาลดำเนินการให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ด้านนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สื่อสารองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. กล่าวว่า ปตท.และบริษัท ในกลุ่ม ได้แก่ .ปตท.เคมิคอล บริษัท พีทีที ฟีนอล  ได้ยื่นคำชี้แจงเพิ่มเติมกับ ศาลปกครองกลาง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อขอผ่อนผันการเปิดดำเนินการในคดีมาบตาพุด

ทั้งนี้การยื่นข้อมูลดังกล่าวจะทำในลักษณะรายบริษัท  ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลว่าจะสั่งการอย่างไร นอกจากนี้แต่ละบริษัทยังยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (กนอ.)และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องการอนุญาตเปิดดำเนินการ   โดยโครงการเหล่านี้เป็นโครงการที่ไม่มีผลกระทบรุนแรง และช่วยลดมลพิษ ตลอดจนได้รับความเห็นชอบเรื่องการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ตั้งแต่ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลบังคับใช้  เช่น โรงแยกก๊าซที่ 6 โครงการท่อส่งก๊าซฯ เป็นต้น