posttoday

บลจ.บัวหลวงจับมือกลุ่มบริษัท เค.อี.ลงทุนศูนย์การค้ามูลค่าหมื่นล.

18 เมษายน 2562

บลจ.บัวหลวง จับมือกลุ่มบริษัท เค. อี. ตั้งกองทรัสต์ ลงทุนศูนย์การค้าและธุรกิจใกล้เคียง ประเดิมครั้งแรก 10 โครงการ มูลค่าสินทรัพย์1.1 หมื่นล้านบาท

บลจ.บัวหลวง จับมือกลุ่มบริษัท เค. อี. ตั้งกองทรัสต์ ลงทุนศูนย์การค้าและธุรกิจใกล้เคียง ประเดิมครั้งแรก 10 โครงการ มูลค่าสินทรัพย์1.1 หมื่นล้านบาท

นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง เปิดเผยว่า บริษัทร่วมมือกับ เค. อี. รีท แมเนจเมนท์ เตรียมจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท ) รูปแบบใหม่ที่มีผู้จัดการกอง 2 รายร่วมกันบริหาร ตั้งเป้าลงทุนครั้งแรกในศูนย์การค้าไลฟ์สไตล์ 10 โครงการ มูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 11,000 ล้านบาท โดยสินทรัพย์บางส่วนจะมาจากการแปลงสภาพของกองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์คริสตัล รีเทล โกรท (CRYSTAL)

หากการจัดตั้งกองทรัสต์นี้สำเร็จ จะเป็นกองแรกของไทยที่มีผู้จัดการกองทรัสต์ 2 รายร่วมกันบริหาร คือ กองทุนบัวหลวง ที่มีความเชี่ยวชาญการบริหารกองทุน และบริษัท เค.อี.รีท แมเนจเมนท์ ภายใต้กลุ่มบริษัท เค.อี. ที่ความชำนาญด้านพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์ ทั้งประเภทที่อยู่อาศัยและโครงการศูนย์การค้า

นายพรชลิต กล่าวว่า การจัดตั้งกองทรัสต์ครั้งนี้ มีเป้าหมายต้องการพัฒนากองทรัสต์ในประเทศไทยให้เติบโตทัดเทียมกับกองทรัสต์ในต่างประเทศ โดยจะมีความคล่องตัวในการลงทุนโครงการต่างๆ ที่เป็นสินทรัพย์คุณภาพดีและมีศักยภาพเติบโตในระยะยาว อีกทั้งมีข้อได้เปรียบจากการกระจายตัวของสินทรัพย์ในแหล่งที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย จะช่วยสนับสนุนให้สินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุนมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น และสามารถบริหารต้นทุนการดำเนินงานได้คุ้มค่ามากขึ้น อันจะส่งผลให้สามารถจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์ได้อย่างมั่นคงและสม่ำเสมอ

สำหรับการลงทุนในกองทรัสต์ เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ที่มีระดับความเสี่ยงและการให้ผลตอบแทนกึ่งกลางระหว่างการลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการลงทุนตลอดทุกช่วงวัฎจักรเศรษฐกิจได้ดี โดยกองทรัสต์มีศักยภาพในการเติบโต มีความมั่นคงของรายได้ ทำให้นักลงทุนมีโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอและเติบโตไปพร้อมๆ กับธุรกิจได้ ภายใต้ความเสี่ยงที่ไม่สูงเกินไป

ทั้งนี้ ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย ณ สิ้นปี 2561 มีพื้นที่ขายโดยรวมประมาณ 7.5 ล้านตารางเมตร โดยพื้นที่กว่า 5 ล้านตารางเมตร เป็นพื้นที่ของผู้ประกอบการขนาดกลางลงมา ขณะเดียวกันธุรกิจค้าปลีกในประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของกองทรัสต์ในการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ