posttoday

เตรียมพร้อมลดหย่อนภาษีปี'53

07 พฤศจิกายน 2553

ถ้าอยากจะเพิ่มความอบอุ่นหัวใจในช่วงต้นปีหน้าที่จะเป็นเทศกาลยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ต้องเริ่มทำกันตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเราอาจจะได้ “เงินคืน” มาเป็นของขวัญปีใหม่....

ถ้าอยากจะเพิ่มความอบอุ่นหัวใจในช่วงต้นปีหน้าที่จะเป็นเทศกาลยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ต้องเริ่มทำกันตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเราอาจจะได้ “เงินคืน” มาเป็นของขวัญปีใหม่....

โดย...สวลี ตันกุลรัตน์

ปีนี้ลมหนาวมาเร็วและทำท่าจะรุนแรงกว่าทุกๆ ปี และลมหนาวก็เป็นสัญญาณบอกเหตุได้หลายอย่าง แต่เหตุการณ์หนึ่งที่มากับลมหนาวแบบที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ (เพราะถ้าคิดจะหลีกให้พ้นคุณอาจจะหนาวกว่าเดิม ไม่เชื่อถาม “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ดูก็ได้) ก็คือ ต้องรีบเตรียมตัววางแผนภาษีสำหรับปี 2553

แค่เห็นคำว่า “ภาษี” หลายคนก็หนาวจี๊ดขึ้นสมองแล้ว โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่มองสลิปเงินเดือนในแต่ละเดือนแล้วอ่อนใจ เพราะโดนหักนั่นหักนี่จนแทบจะไม่เหลืออะไร และหนึ่งในรายการที่ถูกหักออกไป คือ ภาษี

เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะเพิ่มความอบอุ่นหัวใจในช่วงต้นปีหน้าที่จะเป็นเทศกาลยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ต้องเริ่มทำกันตั้งแต่ตอนนี้ เพราะเราอาจจะได้ “เงินคืน” มาเป็นของขวัญปีใหม่

 

เตรียมพร้อมลดหย่อนภาษีปี'53

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าจะเลือกของขวัญกล่องใหญ่ หรือ กล่องเล็ก แต่ที่แน่ๆ คือ เรามีช่องทางให้ใช้สิทธิการลดหย่อนภาษีแบบถูกต้องตามกฎหมายอยู่หลายช่องทาง ซึ่งคงต้องมาไล่เรียงกันดูว่ามีช่องทางไหนที่จะช่วย “คนอย่างเรา” ประหยัดภาษีได้บ้าง

คนใจดี

เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจให้กับ “คนใจดี” รัฐจึงอนุญาตให้นำเงินบริจาคมาเป็นค่าลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเพื่อการศึกษา บริจาคเพื่อการกุศลสาธารณะ และการบริจาคเงินสนับสนุนการกีฬา

แต่การบริจาคที่รัฐให้สิทธิลดหย่อนภาษีมากที่สุด คือ เงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา โดยสามารถหักลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปจริง หรือที่เรียกว่า “ให้ 1 แต่ได้ถึง 2” แต่ต้องไม่เกิน 10% ของเงินคงเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว

นอกจากนี้ สำหรับปีนี้ยังเพิ่มสิทธิลดหย่อนเงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยผ่านสื่อมวลชน เช่น การบริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “รวมใจช่วยภัยน้ำท่วม” ธนาคารกรุงไทย สำนักนานาเหนือ เลขที่บัญชี 000-0-33000-0 ที่หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ร่วมกับพันธมิตรร่วมกันจัดขึ้น

เงินบริจาคดังกล่าวสามารถนำเงินบริจาคนั้นหักลดหย่อนได้ตามจริง (รวมกับเงินบริจาคอื่นๆ ด้วย) แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว

คนมีบ้าน

สำหรับคนที่ยังต้อง “ผ่อนบ้าน” ก็สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืม มาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

ในกรณีที่ผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืม ก็ให้หักลดหย่อนได้ทุกคน แต่ต้องเฉลี่ยค่าลดหย่อนกัน และรวมกันแล้วต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกิน 1 แสนบาทเช่นกัน

คนชอบลงทุน

น่าจะเป็นโชคดีของ “คนชอบลงทุน” เพราะมีช่องทางให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกัน 2 ช่องทาง คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) โดยทั้งสองกองทุนมีวัตถุประสงค์การลงทุนที่แตกต่างกันและมีเงื่อนไขการได้รับสิทธิภาษีต่างกันด้วย

กองทุน RMF เป็นการออมเงินไว้ใช้หลังจากเกษียณอายุ ขณะเดียวกันมี นโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ตั้งแต่กองทุนตลาดเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ไปจนถึงการลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนให้เหมาะกับบุคลิกและระยะเวลาที่จะเกษียณอายุของแต่ละคน

สำหรับเงินลงทุนในกองทุน RMF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี แต่เมื่อนับรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) แล้ว ต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

แต่ต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ คือ ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี โดยลงทุนขั้นต่ำอย่างน้อย 3% ของรายได้ในแต่ละปี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะน้อยกว่า แต่ไม่ต้องซื้อทุกปีก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องซื้อแบบปีเว้นปี

นอกจากนี้ ต้องถือหน่วยลงทุนจนอายุครบ 55 ปี และต้องลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก

ขณะที่กองทุน LTF เป็นการสนับสนุนการลงทุนหุ้นระยะยาว เพราะฉะนั้นนโยบายการลงทุนจึงพุ่งเป้าไปที่การลงทุนหุ้นเป็นหลัก โดยไม่ได้บังคับว่าต้องลงทุนต่อเนื่องกันเหมือนกับกองทุน RMF แต่ถ้าปีไหนที่ลงทุนไปแล้วต้องถือเอาไว้อย่างน้อย 5 ปีปฏิทิน

สำหรับเงินลงทุนในกองทุน LTF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ในแต่ละปี และเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ภาษีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยจะต้องลงทุนไม่เกิน 5 แสนบาท เพราะส่วนที่เกิน 5 แสนบาทจะเสียภาษีเงินได้หากมีกำไรจากการขายคืนเงินหน่วยลงทุน

แต่ในปีนี้คนที่คิดจะลงทุนในกองทุน LTF เพื่อหวังสิทธิประโยชน์ทางภาษีอาจจะต้องคิดหนักกันสักหน่อย เพราะไม่รู้ว่าจะกลายเป็น “เอาปลาใหญ่ไปตกปลาเล็ก” หรือไม่ เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขึ้นไปยืนเหนือ 1,000 จุดเรียบร้อยแล้ว จนทำให้หลายคนคิดว่า การซื้อกองทุน LTF ตอนนี้มันน่าหวาดเสียวยิ่งกว่านั่งรถไฟเหาะตีลังกาเสียอีก
ก็เลยจะถือโอกาสแนะนำกองทุน LTF จากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 3 แห่ง ที่น่าจะเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยที่ไม่ต้องมานั่งลุ้นกับตลาดหุ้นให้เลือดสูบฉีดมากเกินไป นั่นคือ

ไทยพาณิชย์ หุ้นระยะยาว สมาร์ท (SCBLT) บลจ.ไทยพาณิชย์

เค สตราทีจิค ดีเฟ็นซีฟ หุ้นระยะยาวปันผล (KSDLTF) บลจ.กสิกรไทย

วรรณ เอ เอ็ม สมาร์ท หุ้นระยะยาว (1SMART-LTF) บลจ.วรรณ

ทั้ง 3 กองทุนใช้หลักการลงทุนแบบเดียวกัน คือ ลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 65% ของพอร์ต ตามข้อกำหนดของกองทุน LTF จากนั้นจะนำเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งไปทำสัญญา “ขายล่วงหน้า” หรือที่เรียกว่า Short Sell ใน SET50 Index Futures ทำให้ผลดำเนินงานของกองทุนไม่ได้เคลื่อนไหวขึ้นลงหวือหวาเหมือนกับกองทุน LTF ทั่วๆ ไป

เพราะวิธีการลงทุนแบบนี้เป็นการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดจากการลงทุน โดยหากราคาหุ้นปรับตัวลดลง กองทุนนี้จะขาดทุนจากการลงทุนหุ้น แต่จะไปได้กำไรจากการขายชอร์ตฟิวเจอร์ส เข้ามาชดเชยผลขาดทุนที่เกิดขึ้น แต่หากในกรณีที่ตลาดหุ้นหรือหุ้นที่ลงทุนราคาปรับเพิ่มขึ้น กองทุนก็จะได้รับกำไรจากหุ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะขาดทุนจากการขายชอร์ตฟิวเจอร์ส

คนมีประกัน

หลายคนอาจจะไม่เคยคิดถึงการทำประกันชีวิตเลยจนกระทั่งได้ยินคนขายประกันบอกว่า “เอาไปใช้ลดหย่อนภาษีได้” สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
รัฐอนุญาตให้นำ “เบี้ยประกัน” ที่เราจ่ายไปในปีภาษีนั้นๆ โดยสามารถหักได้ตามจำนวนเงินที่จ่ายไปจริง ส่วนแรกหักได้ 1 หมื่นบาท ส่วนที่เกิน 1 หมื่นบาทจะหักได้ไม่เกินเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 9 หมื่นบาท หรือที่คนขายประกันจะบอกรวมๆ กันว่า สามารถหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 1 แสนบาท

เกณฑ์การหักลดหย่อนภาษีนี้ ยังรวมถึงการฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวด้วย

นอกจากนี้ ในปีนี้ยังมีข่าวดีสำหรับ “คนมีประกัน” โดยสามารถหักลดหย่อนเพิ่มจาก 1 แสนบาท เป็น 3 แสนบาท

แต่ส่วนที่เพิ่มขึ้น 2 แสนบาทนั้น ต้องเป็นการทำ “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” เท่านั้น และต้องไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมกับเงินได้ที่จ่ายเข้ากองทุนประเภทเดียวกันอื่นๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กบข. กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมาย และเงินลงทุนกองทุน RMF แล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Annuity) จะต่างจากประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ที่เราคุ้นเคยกัน เพราะประกันชีวิตแบบบำนาญจะเป็นการประกันว่า เราจะมีรายได้อย่างต่อเนื่องหลังจากที่เกษียณอายุแล้ว

ในช่วงแรกเราจะเป็นคนจ่ายเบี้ยประกันไปเรื่อยๆ ซึ่งเรียกว่า “ช่วงก่อนรับเงินบำนาญ” ซึ่งในช่วงนี้เราจะไม่ได้รับผลตอบแทนอะไร ไปจนถึงวันที่เกษียณอายุจะเรียกว่า “ช่วงรับเงินบำนาญ” บริษัทประกันจะเป็นคนจ่ายเงินบำนาญให้กับเราเป็นงวดๆ ไปจนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 85 ปี (สำหรับคนที่อยากรู้จัก “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” ให้มากขึ้น คงต้องอดใจรอสัปดาห์หน้า)

แต่ไม่ได้หมายความว่า พอเห็นว่าเป็น “ประกันชีวิตแบบบำนาญ” แล้วจะสามารถนำมาลดหย่อนเพิ่มเติมได้เหมือนกันหมด เพราะต้องให้ทางบริษัทประกันระบุในใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันไว้อย่างชัดเจนว่า เป็น “เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ” สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามกฎกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ กรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญที่สามารถนำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้ จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ต่อไปนี้ คือ

1.มีระยะเวลาเอาประกันภัย 10 ปีขึ้นไป นับตั้งแต่เริ่มทำประกันชีวิต จนถึงอายุสุดท้ายที่รับบำนาญ

2.เริ่มจ่ายเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไป จนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 85 ปี

3.ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์อื่นใดก่อนรับเงินบำนาญ ยกเว้นผลประโยชน์กรณีการเสียชีวิต

4.กรณีเสียชีวิตในช่วงก่อนรับเงินบำนาญ ผลประโยชน์ที่ได้รับอาจจะมาก กว่าเบี้ยประกันภัยที่ชำระไปเล็กน้อย แต่กรณีเสียชีวิตในช่วงรับเงินบำนาญผลประโยชน์ที่ได้รับจะไม่เกินเบี้ยประกันภัยที่ผู้เอาประกันภัยชำระมาทั้งหมด หักด้วยผลประโยชน์เงินบำนาญที่ได้รับไปแล้วทั้งหมด

5.ไม่มีการจ่ายผลประโยชน์ใดๆ ในวันครบกำหนดชำระเบี้ยประกันภัย หรือวันครบรอบปีกรมธรรม์ประกันภัยปีสุดท้ายก่อนรับเงินบำนาญ

6.การจ่ายเงินบำนาญต้องจ่ายเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ เช่น รายปีหรือรายเดือน

7.ต้องมีวงเล็บไว้ด้วยว่าเป็นกรมธรรม์ “บำนาญแบบลดหย่อนได้”

สำหรับเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องมาคำนวณกันอีกว่า ระหว่างการลงทุนกองทุน RMF กับประกันชีวิตแบบบำนาญ จะจัดสรรปันส่วนเงินกันอย่างไร

จากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ยกตัวอย่างการคำนวณเบี้ยประกันชีวิตที่จะนำไปลดหย่อนภาษี (รายละเอียดตามตาราง) จะเห็นว่าหากเรามีเงินได้พึงประเมิน 1 ล้านบาท และได้ซื้อประกันชีวิตแบบเดิม เช่น ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ โดยจ่ายเบี้ยประกัน 1 แสนบาทไปแล้ว ในกรณีที่ 1

เราจะสามารถซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญและนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้อีกไม่เกิน 1.5 แสนบาทเท่านั้น เพราะเราจะซื้อได้ไม่เกิน 15% ของรายได้พึงประเมิน แต่เรายังเหลือวงเงินอีก 3.5 แสนบาทที่จะนำไปลงทุนในกองทุนอื่น เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน RMF เพราะเมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกิน 5 แสนบาท

แต่หากเรามีรายได้พึงประเมิน 1.5 ล้านบาท และไม่เคยซื้อประกันอย่างอื่น|มาก่อน เราจะสามารถซื้อประกันแบบบำนาญได้ถึง 3 แสนบาท โดยเป็นการใช้สิทธิลดหย่อนตามเกณฑ์เดิม 1 แสนบาท และตามเกณฑ์ใหม่อีก 2 แสนบาท นอกจากนี้ยังเหลือวงเงินอีกไม่เกิน 3 แสนบาทเพื่อไปลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุน RMF

รู้แบบนี้แล้วอย่าปล่อยให้สิทธิประโยชน์ดีๆ แบบนี้ผ่านไปกับลมหนาว และถ้าเราวางแผนภาษีกันแต่เนิ่นๆ แบบนี้ ก็หวังว่าเมื่อถึงวันที่ได้รับ “เงินคืน” จะได้อบอุ่นใจกันถ้วนหน้า