posttoday

จาก Money Tips ถึง Wealth Plus กับบางสิ่งที่เราจะไม่ลืม

28 มีนาคม 2562

ย้อนไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว คอลัมน์หรือบทความให้ความรู้เกี่ยวกับ “การบริหารเงินส่วนบุคคล” เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนไทย เพราะฉะนั้นการเปิดพื้นที่ 1 หน้าหนังสือพิมพ์ให้กับ คอลัมน์ Money Tips

เรื่อง ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์  และทีม wealth puls โพสต์ทูเดย์

ย้อนไปเมื่อ 16 ปีที่แล้ว คอลัมน์หรือบทความให้ความรู้เกี่ยวกับ “การบริหารเงินส่วนบุคคล” เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนไทย เพราะฉะนั้นการเปิดพื้นที่ 1 หน้าหนังสือพิมพ์ให้กับ คอลัมน์ Money Tips จนกระทั่งขยับขยายกลายเป็นเซ็กชั่น Wealth Plus ในวันนี้ ถือเป็นความกล้าหาญและมองการณ์ไกลของผู้บริหาร นสพ.โพสต์ทูเดย์

และแม้ว่า วันนี้เราจะจากลาบนหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เราจะไม่ลืมบางสิ่งที่ผ่านมา

1.หลังจากบทความแรกตีพิมพ์เมื่อเดือน พ.ค. 2546 คอลัมน์ Money Tips ก็ไม่เคยหายไปจากหน้า นสพ.โพสต์ทูเดย์ เพราะจะมาเป็นประจำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง (ยกเว้นว่าจะมีพื้นที่โฆษณา) แม้ว่าจะไม่เคยนับจำนวนบทความที่ลงในคอลัมน์นี้ แต่ถ้าลองคำนวณจากระยะเวลาเกือบ 16 ปีเต็ม ก็น่าจะมีไม่ต่ำกว่า 700 บทความ

ทุกๆ บทความ ทุกๆ ความทรงจำ ต้องขอบคุณกูรูผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ ทุกท่านที่มาร่วมแบ่งปันความรู้ ความคิด ความเห็น ประสบการณ์และมุมมองด้านต่างๆ และขอบคุณผู้อ่านที่สนับสนุนกันมาตลอด

2.แม้ว่าในยุคแรกๆ เราจะไม่เคยได้ยินคำว่า “อินโฟกราฟฟิก” แต่บอกได้เลยว่ากราฟฟิกและภาพประกอบ รวมทั้งการจัดวางเลย์เอาต์ของคอลัมน์ Money Tips คือ “ที่สุด” เพราะนอกจากจะทำให้เรื่องน่าสนใจแล้ว ยังทำให้การบริหารเงิน การออมและลงทุน (ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องยาก) กลายเป็นเรื่องสนุก และเข้าใจง่ายมากขึ้น จนทำให้ผู้อ่านหลายท่านตัดเก็บไว้เป็นข้อมูล

3.ครั้งหนึ่งมีการสำรวจความคิดเห็นของผู้อ่านหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ “Money Tips” ติดอยู่ในอันดับต้นๆ ของคอลัมน์ยอดนิยม ทั้งๆ ที่ตีพิมพ์เพียงสัปดาห์ละ 1 ครั้งเท่านั้น

4.เมื่อปี 2549 คอลัมน์ Money Tips นำเสนอบทความเรื่อง ท่านนายกฯ ครับ พวกเราอยากได้ “โรงหมอรักษาโรคหนี้” กระทั่ง 11 ปีผ่านไป จึงมีการจัดตั้ง “คลินิกแก้หนี้” เรารู้ว่า ไม่ใช่เพราะเรา แต่อย่างน้อยเราก็เป็นอีกหนึ่งแรงเชียร์ที่อยากให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างจริงจัง

5.บทความเรื่อง เขาชวนหนูไป “เก็งกำไรค่าเงิน” ผ่านอินเทอร์เน็ต ได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดีเชิงข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการประกวดข่าวและสารคดีเชิงข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2550 หัวข้อ “การใช้ ICT อย่างสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะที่ดี” โดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย

ในบทความนั้นนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Forex ซึ่งในขณะนั้นมีประชาชนจำนวนมากถูกชักชวนให้ไปลงทุนโดยไม่เข้าใจความเสี่ยง ไม่รู้ว่าผิดกฎหมายและที่สำคัญคือถูกมิจฉาชีพหลอกให้ลงทุน

6.เราพาไปรู้จักกับ “เงินดิจิทัล” ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นเงินของโลกอนาคต โดยในขณะนั้น (ปี 2559) ราคาซื้อขาย “บิตคอยน์” อยู่ที่ 620 ดอลลาร์สหรัฐ บทความชิ้นนั้นได้รับความสนใจจากผู้อ่านจำนวนมาก โดยเฉพาะหลังจากที่ “วรวรรณ ธาราภูมิ” ผู้บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง นำไปแชร์บนเฟซบุ๊กส่วนตัว

7.ในยุคที่โพสต์ทูเดย์มีเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย บทความเรื่องหากเราจากไป... ไม่มีพินัยกรรม ใครคือผู้รับมรดก เป็นบทความที่ทำสถิติมียอดคลิกมากที่สุดในบรรดาบทความทั้งหมดของคอลัมน์ Money Tips ที่ได้รับเชิญให้ขึ้นไปอยู่บนเว็บไซต์ ซึ่งเท่าที่จำได้ คือ มากกว่า 8 แสนคลิก (https://www.posttoday.com/finance/money/466161 แต่ถ้าเข้าไปดูตอนนี้ไม่มีสถิตินี้ปรากฏอยู่แล้ว)

8.โพสต์ทูเดย์ เคยมีแผนที่จะนำบทความในคอลัมน์ Money Tips มารวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊ก แต่ด้วยเหตุขัดข้องบางประการทำให้โครงการนี้ล่มไป

หากเป็นไปตามแผนเราจะมีพ็อกเกตบุ๊กถึง 2 เล่ม เล่มแรกชื่อ “ลงทุนด้วยหัวใจ กำไรเพราะความรัก” ซึ่งเป็นเรื่องการลงทุนทางเลือก ตั้งแต่เพชร พระเครื่อง ธนบัตร เหรียญกษาปณ์ งานศิลปะ ไวน์ ไปจนถึงของสะสมเล็กๆ น้อยๆ ที่ดูไม่มีค่าแต่กลับมีราคาสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง

ขณะที่เล่มที่สองใช้ชื่อ “เพราะรักจึงอยากให้รวย” เป็นรวมบทความคำแนะนำด้านการบริหารเงินสำหรับครอบครัว ซึ่งเริ่มจากการวางแผนการเงินสำหรับคนโสด แต่งงาน มีลูก วางแผนเกษียณ และแนวทางการสร้างวินัยทางการเงินให้กับลูกๆ

9.จากพื้นที่ 1 หน้าหนังสือพิมพ์ที่คอลัมน์ Money Tips ครอบครองอยู่ ถูกขยับขยายให้กว้างขวางและหลากหลายกลายเป็นเซ็กชั่น Wealth Plus ที่มีทั้งหมด 8 หน้าหนังสือพิมพ์ ตีพิมพ์สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2560 โดยมีโจทย์ง่ายๆ ว่า “เราจะทำให้คนที่ยังไม่รวย...รวย และทำให้คนที่รวยอยู่แล้ว...รวยยิ่งขึ้น” โดยยังคงรักษาความ “หน้าตาดี” เล่าเรื่องด้วยภาพและกราฟฟิก ตามแบบฉบับของ Money Tips เพื่อให้น่าหยิบ น่าอ่าน

10.นับจาก Money Tips ถึง Wealth Plus มีหนังสือพิมพ์อยู่ 1 หน้าที่ทำเสร็จเรียบร้อยแต่ไม่เคยถูกตีพิมพ์ นั่นคือบทความเรื่อง คู่รัก…นักธุรกิจ ซึ่งเป็นบทความ “หน้าใน” ของ Wealth Plus ฉบับวันวาเลนไทน์ ปี 2560 (ฉบับที่หน้าปกโรยด้วยกลีบกุหลาบ) เนื่องจากเกิดความผิดพลาดในระบบการพิมพ์ทำให้หน้านั้นไม่เคยได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ จนกระทั่งวันนี้

11.เริ่มต้นศักราช 2561 “Wealth Plus” ได้มีการปรับโฉมใหม่ จากเดิมที่เคยตีพิมพ์ทุกวันอังคารจำนวน 8 หน้า มีการปรับกระบวนการผลิต “Wealth Plus” ตีพิมพ์วันจันทร์-พฤหัสบดี วันละ 1 หน้า โดยยังคงเนื้อหาที่เข้มข้นและสดทันต่อเหตุการณ์ ยึดคอนเซ็ปต์อ่านง่าย กราฟฟิกน่ารักๆ

12.พร้อมกับการเปิดตัวเฟซบุ๊ก “Wealth Plus Posttoday” เพื่อเป็นช่องทางให้เข้าถึงผู้อ่านมากขึ้น

ถึงแม้ว่าหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ จะปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มี.ค. 2562 และหน้า Wealth Plus ฉบับสุดท้ายวันที่ 27 มี.ค.นี้ แต่ผู้อ่านสามารถที่จะติดตามเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการเงินการลทุนได้ที่ www.posttoday.com

จาก Money Tips ถึง Wealth Plus กับบางสิ่งที่เราจะไม่ลืม

จาก Money Tips ถึง Wealth Plus กับบางสิ่งที่เราจะไม่ลืม