posttoday

เส้นทางสายอาชีพ ทางการเงิน

27 มีนาคม 2562

อาชีพที่ปรึกษาด้านการเงิน การลงทุน ในปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของคนไทยที่เห็นความสำคัญของการบริหารเงิน

อาชีพที่ปรึกษาด้านการเงิน การลงทุน ในปัจจุบันกำลังเป็นที่ต้องการของคนไทยที่เห็นความสำคัญของการบริหารเงิน เพื่อนำไปสู่ความเพียงพอในการใช้จ่าย มีเงินเหลือเก็บออมเติบโตขึ้น มีใช้ช่วงเกษียณ รวมถึงผู้มีสินทรัพย์สูงก็ต้องการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนเพื่อส่งมอบจากรุ่นสู่รุ่น

หนึ่งในคุณวุฒิ ที่ทั่วโลกให้การยอมรับและเป็นใบเบิกทางเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพทางการเงิน การลงทุนในระดับสากล คือ Chartered Financial Analyst (CFA) หรือ ซีเอฟเอ เพราะผู้ที่จะสอบผ่านต้องอ่านความรู้ด้านการเงินการลงทุนตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง นับเวลาในการอ่านเพื่อสอบให้ผ่านทั้ง 3 ระดับ ประมาณ 2,000 ชั่วโมง

นอกจากจะได้ความรู้มาใช้ในการบริหารเงินในกระเป๋าตัวเองแล้ว ยังสามารถใช้เป็นใบผ่านเข้าสู่เส้นทางสายอาชีพทางการเงินได้ด้วย

ตลาดต้องการจำนวนมาก

รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ความสำคัญกับผู้ที่สอบได้ CFA Chartered ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูงและมีจริยธรรมในการทำงานสูง จะได้รับเงินเดือนที่สูงมากและวงการตลาดทุนถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่จ่ายเงินเดือนสูงสุด

ผู้ที่สอบผ่าน CFA Chartered เป็นหนึ่งในห่วงโซ่สำคัญของตลาดทุน เพราะต้องนำความรู้ทางการเงิน การลงทุน แนะนำให้ประชาชนเข้าใจแบบง่ายๆ เพื่อให้สามารถใช้ตลาดทุนบริหารสภาพคล่อง สร้างผลตอบแทนที่ดี ช่วยองค์กรต่างๆ ระดมทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ โดยเป็นอาชีพที่เป็นที่ต้องการอีกมากในอนาคต

วิน พรหมแพทย์ นายกสมาคม ซีเอฟเอไทยแลนด์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจก้าวเข้าสู่นักการเงินมืออาชีพมากขึ้น จะเห็นได้จากการจัดงาน 2019 CFA Career Day มีนักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมงาน 600 คน มากที่สุดเท่าที่เคยจัดงานมา

ทุกวันนี้ ผู้ที่ได้ CFA ทั่วโลกมีประมาณ 1.5 แสนคน ส่วนประเทศไทยมีประมาณ 500 คน และปีนี้สอบผ่าน CFA Chartered จำนวน 55 คน โดยผู้ที่จะได้คุณวุฒินี้ ต้องสอบ CFA ผ่านทั้งสามระดับ มีประสบการณ์การทำงานด้านการเงิน หรืองานที่เกี่ยวข้องกับการเงินอย่างน้อย 4 ปี

ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำงานในธนาคารพาณิชย์ หรือในตลาดทุน ตลาดเงินเท่านั้น แต่มาจากธุรกิจใดก็ได้ ขอเพียงทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน

ได้ CFA ไปทำอะไร ที่ไหน

เส้นทางสายอาชีพทางการเงิน ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในวงการธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจจัดการกองทุนเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ต้องการในวงการอื่นๆ อีกมาก

ณพล กำธรกิตติกุล CFA ทำงานที่ บริษัท ลอมบาร์ด อินเวสต์เม้นท์ (ประเทศไทย) หรือ Lombard Investments (Thailand) เป็นไพรเวท อิควิตี้ ฟันด์ เป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่ได้เรียนจบสายการเงินมาโดยตรง แต่จบวิศวะคอมพิวเตอร์ และสนใจอาชีพทางการเงินได้เข้ามาเรียนรู้และสอบ CFA จากนั้นได้เข้าทำงานด้านวาณิชธนกิจ ต่อมาไปเรียนต่อปริญญาโทและได้ทำงานกับธนาคารแห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ ก่อนจะมาทำงานที่ ลอมบาร์ด ที่ไทย

ธุรกิจไพรเวท อิควิตี้ ฟันด์ ทำหน้าที่หาเงินทุนและเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพซึ่งอยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ที่ต้องอาศัยความรู้ด้านการวิเคราะห์ธุรกิจ ฐานะการเงิน เอกสาร ก่อนจะตัดสินใจลงทุน และเข้าไปช่วยพัฒนาธุรกิจที่เข้าลงทุนให้เติบโต ก่อนที่จะขายธุรกิจนั้นออกไป อาจจะขายด้วยการนำเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือขายให้กับนักลงทุนที่อยู่นอกตลาดความท้าทายของการทำงานในบริษัทข้ามชาติ ต้องใส่ใจในรายละเอียด และมีความแม่นยำ

ด้าน วัชริดา บุญทวีพัฒน์ CFA ทำงานที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เจ.พี.มอร์แกน (เอเชีย แปซิฟิก) หรือ J.P.Morgan Securities (Asia Pacific) อยู่ที่ฮ่องกง จบด้านเศรษฐศาสตร์ภาคอินเตอร์ ทำงานในบริษัทหลักทรัพย์

ปัจจุบันเป็นผู้หญิง 1 ใน 3 คน ของ เจ.พี.มอร์แกน ที่ฮ่องกง ทำหน้าที่เป็นนักค้า หรือเทรดเดอร์ ตราสารอนุพันธ์ ต้องอาศัยความแม่นยำในมุมมอง มีเหตุผลรองรับ ตัดสินใจเร็ว เพราะลักษณะของงานมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าทำงานด้านนี้จะต้องมีความแม่นยำด้านสถิติ คณิตศาสตร์ การคำนวณ ภาษาดาต้าเบส เขียนโปรแกรมได้ มีทักษะด้านเทคนิคสูง และสามารถอธิบายได้ โดยจากประสบการณ์คัดสรรพนักงานพบว่าไม่สามารถอธิบายกระบวนการทำงานได้

อภิญญา องค์คุณารักษ์ CFA, CAIA ทำงานเป็นผู้จัดการกองทุน บริษัท เซ็นทรัล กรุ๊ป หรือ Central Group ที่มีลักษณะพิเศษ ตรงที่แนวคิดในการลงทุนจะมองระยะยาวมากๆ คิดวางแผนด้วยการนึกถึงความยั่งยืนที่จะส่งต่อรุ่นต่อๆ ไปหลายๆ เจเนอเรชั่น เป็นอีกหนึ่งวงการที่ต้องการผู้ที่มีความรู้ด้านการเงินอย่างมืออาชีพ แต่ด้วยจรรยาบรรณ จึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

ก่อนที่จะเข้าทำงานกับกลุ่มเซ็นทรัล กรุ๊ป ในส่วนของ Family Office ได้ทำงานกับกองทุนบริหารความเสี่ยง (เฮดจ์ฟันด์) และการบริหารเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบัน ชื่อ Stamos Capital Partners ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งนักการเงิน นอกจากจะต้องมีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งแล้ว ต้องมีความรู้และมีทักษะในเรื่องที่เกี่ยวข้อง จึงต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

เตรียมตัวอย่างไร

ไปทำงานสาย FinTech

ธุรกิจสตาร์ทอัพ สาย FinTech ยังต้องการบุคลากรที่มีความรู้ด้านการเงินและการลงทุนอีกมาก จะเห็นได้ว่าผู้ที่มาเปิดบริษัทสตาร์ทอัพ ส่วนใหญ่ล้วนเคยอยู่ในวงการธนาคาร วงการหลักทรัพย์ และกองทุนรวมมาก่อน เพราะต้องใช้ความรู้ด้านการวิเคราะห์ การบริหารความเสี่ยง

วรพล พรวาณิชย์ CFA PeerPower ผู้ให้บริการสินเชื่อออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) แนะนำว่า ผู้จะเข้าทำงานกับ FinTech ต้องมีมุมมองและความพยายามที่จะทำให้สำเร็จ มีความอดทนและต้องทำงานหนัก เพราะความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ ต้องผ่านช่วงความเจ็บปวด ผ่านช่วงของการเติบโต และต้องมีความรู้ในงานที่จะทำ นอกเหนือจากความรู้ด้านการเงินซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต้องนำมาประยุกต์ในการพัฒนาธุรกิจ

กุลนรัตน์ สามัคคีนิชย์ CFA บริษัท LenddoEFL บริษัทสตาร์ทอัพที่ให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลแก่สถาบันการเงิน เพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีหลักทรัพย์ ไม่เคยกู้เงินมาก่อน สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ แนะนำว่า ผู้ที่มีความรู้ด้านการเงิน โดยเฉพาะผู้ที่ได้ CFA ยังเป็นที่ต้องการของธุรกิจฟินเทค เพราะจะได้เข้าใจความต้องการลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงิน และมีจรรยาบรรณในการรายงานข้อมูลต่างๆ ตามเกณฑ์มาตรฐานได้รับการยอมรับและน่าเชื่อถือ

อีกหนึ่งในทักษะที่ต้องมีคือการอ่าน เพื่อจะได้ตามทันสถานการณ์ปัจจุบันว่ามีอะไรเกิดขึ้นจะได้ปรับตัวให้เร็ว

เจษฎา สุขทิศ CFA Finnomena บริษัทสตาร์ทอัพที่นำโรบอต มาวางแผนการเงินและการลงทุนให้กับนักลงทุนทั่วไป แนะนำว่า CFA ต้องมีความรู้ด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ความรู้ด้าน Deep Learning หรือซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของระบบโครงข่ายประสาทในสมองของมนุษย์เพื่อนำมาใช้ในการทำรูปแบบการวิเคราะห์

จากผู้ที่คร่ำหวอดในเส้นทางสายอาชีพทางการเงินรุ่นใหม่ไฟแรงและอนาคตไกล จะเห็นว่ามีโอกาสเติบโตด้านการทำงานในหลากหลายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ