posttoday

ชงต่อภาษี"แอลทีเอฟ"

27 มีนาคม 2562

สมาคม บลจ.เตรียมชงรัฐบาลใหม่ต่ออายุภาษีกองทุน LTF อ้างเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้าถึงระบบการออม-ลงทุน ด้าน "อภิศักดิ์" ลั่นควรจบได้แล้ว

สมาคม บลจ.เตรียมชงรัฐบาลใหม่ต่ออายุภาษีกองทุน LTF อ้างเป็นเครื่องมือให้ประชาชนเข้าถึงระบบการออม-ลงทุน ด้าน "อภิศักดิ์" ลั่นควรจบได้แล้ว

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กสิกรไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) เปิดเผยว่า สมาคมมีแผนเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเรื่องการต่ออายุสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งจะสิ้นสุดในสิ้นปี 2562

ทั้งนี้ เนื่องจากได้พิสูจน์แล้วว่า ที่ผ่านมากองทุนลดหย่อนภาษีทั้งสองประเภท คือ กองทุน LTF และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นกองทุนที่สามารถดึงคนเข้ามาในระบบการออมได้ผลดีที่สุด ดังนั้นจึงเชื่อว่าหากต่ออายุ LTF ต่อไป ก็จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่จะดึงเงินเข้ามาในระบบได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลใหม่เห็นความสำคัญต่อประเด็นนี้

"หากมีความชัดเจนเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว สมาคม บลจ.ก็พร้อมที่จะเข้าไปหารือกับรัฐบาลทันที เพื่อสานต่อ กองทุน LTF และอยากให้ทุกคนมองกองทุนนี้ในหลายมิติ ไม่ใช่มองว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เฉพาะคนรวย หรือกลุ่มคนรายได้สูงเพียงมิติเดียว เพราะอีกมิติของกองทุน LTF ก็สนับสนุนระบบการออมได้เช่นกัน" นายวศิน กล่าว

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า จะไม่มีการเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเรื่องการต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีกองทุน LTF เรื่องนี้ขอยกให้รัฐบาลใหม่พิจารณา ตามหลักการกองทุน LTF ควรจะจบ แต่จะมีการปรับปรุงให้เป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

"การใช้ภาษีมาอุ้มตลาดทุนเราอุ้ม มานานแล้ว ตอนนี้ตลาดทุนมีมูลค่าใหญ่กว่าจีดีพีไปแล้ว ตลาดหุ้นต้องพัฒนา ตัวเอง เราพูดเรื่องเหลื่อมล้ำก็ควรเลิกแอลทีเอฟ แต่กองทุนอาร์เอ็มเอฟเป็น การส่งเสริมการออมของประชาชน อันนี้ควรจะต้องมีอยู่" นายอภิศักดิ์ กล่าว

นายลิม ชอง บุน เดนนิส กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่า จากความเห็นของสายบริหารกองทุนมอง ปัจจัยสนับสนุนการลงทุน ได้แก่ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 1.75% ซึ่งเป็นระดับที่ผ่อนคลาย เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ด้านการเมืองในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง จะส่งผลบวกต่อเนื่องมายังความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติ อีกทั้งประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และยุติการปรับลดงบดุล มีแนวโน้มที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่า และเงินบาทจะกลับมาแข็งค่า ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลเข้ามา

ด้านปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่อาจส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก และประเด็นเรื่องการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) ที่อาจส่งผล กระทบช่วงสั้นต่อตลาด รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ หากเกิดรัฐบาลผสมขึ้น