posttoday

สแกนหนี้ครัวเรือน คนเมืองหนีสูงกว่าชนบท3เท่าตัว

26 มีนาคม 2562

งานวิจัย ของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผย หนี้ครัวเรือน คนเมืองหนีสูงกว่าชนบท3เท่าตัว

งานวิจัย ของ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผย หนี้ครัวเรือน คนเมืองหนีสูงกว่าชนบท3เท่าตัว

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ จัดทำวิจัยเรื่อง มองวิถีเมืองและชนบท กับบทบาทหญิงชายต่อหนี้ครัวเรือนไทย ผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร โดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติของเครดิตบูโร ณ ธ.ค. 2017 มีข้อมูลสินเชื่อถึง 64.5 ล้านบัญชี ของผู้กู้ 20.2 ล้านรายทั่วประเทศ และมียอดหนี้รวมถึง 10.5 ล้านล้านบาท จากสถาบันการเงิน 94 แห่ง มาสะท้อนความแตกต่างของปริมาณและคุณภาพของหนี้ครัวเรือนไทย ตลอดถึงพฤติกรรมการกู้ของผู้กู้ในชุมชนเมือง (พื้นที่ในเขตเทศบาล) และชนบท (พื้นที่นอกเขตเทศบาล) และความแตกต่างของผู้กู้หญิงและชาย ในมิติของอายุ ประเภทสินเชื่อและประเภทสถาบันการเงิน

ภาพรวมสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยของผู้กู้ในเมืองและชนบท หญิงและชาย จากข้อมูล 9 ปี โดยรวมหนี้ครัวเรือนไทยในระบบมาจากผู้กู้ในเมืองมากกว่าในชนบท และมาจากผู้กู้หญิงและชายในสัดส่วนที่พอๆ กัน จากข้อมูลสินเชื่อ ณ เดือน ธ.ค. 2017 พบว่า 51% ของผู้กู้มาจากชุมชนเมือง และมีปริมาณหนี้เกือบ 60% ของยอดหนี้ทั้งหมดที่มีการรายงานมายังเครดิตบูโร และหากแยกตามเพศของผู้กู้ พบว่า 48% เป็นผู้หญิง และมีปริมาณหนี้ 49% ของปริมาณหนี้ทั้งหมด ดังนั้นสถานการณ์หนี้และหนี้เสียของผู้กู้ในแต่ละกลุ่มที่ศึกษาจึงล้วนมีนัยสำคัญต่อหนี้ครัวเรือนไทยทั้งสิ้น

ชุมชนเมืองที่มีหนี้ในระบบสูงกว่าในชนบทถึงเกือบ 3 เท่า แต่มียอดหนี้ต่อผู้กู้น้อยกว่าผู้กู้ในชนบท และคุณภาพโดยรวมของสินเชื่อที่ดีกว่าเล็กน้อย ณ สิ้นปี 2017 พบว่า 34% ของประชากรในชุมชนเมืองมีหนี้ในระบบเทียบกับ 13% ของประชากรในชนบท แต่ผู้กู้ในชนบทมีค่ากลางของยอดหนี้ต่อผู้กู้ที่ 152,969 บาท ซึ่งสูงกว่าผู้กู้ในเขตเมืองที่ 118,295 บาท ขณะที่สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสีย อยู่ที่ 15% ในชุมชนเมือง และ 17% ในชนบท

ผู้กู้ที่มีหนี้เสียของผู้หญิงและผู้ชายมีอัตราส่วนพอๆ กัน โดย ณ สิ้นปี 2017 พบว่า 23% ของประชากรหญิงจะมีหนี้ในระบบ เปรียบเทียบกับ 22% ของประชากรชาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงอัตราการขยายตัวจากปี 2009 ที่สูงกว่าของประชากรหญิง หากพิจารณาปริมาณหนี้ต่อผู้กู้จะเห็นว่าผู้ชายมียอดหนี้ต่อผู้กู้ที่ 195,745 บาท ซึ่งสูงกว่าผู้กู้หญิงที่ 151,563 บาท และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียของผู้ชายที่เคยสูงกว่าก็ลดลงจนมีระดับพอๆ กับผู้หญิงที่ประมาณ 16%

หากเปรียบเทียบสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในแต่ละช่วงอายุ พบว่าคนในเมืองมีสัดส่วนการเป็นหนี้มากกว่าคนชนบทในทุกช่วงอายุ โดยคนอายุน้อย (25-35 ปี) มีสัดส่วนของการมีหนี้ในระบบสูงที่สุดและสูงถึง 78% ในชุมชนเมือง (ซึ่งอาจสะท้อนถึงปัจจัยเร่งทั้งทางด้านอุปสงค์ของความต้องการของคนในสังคมเมือง และอุปทานจากบริการทางการเงินอย่างแพร่หลายและการแข่งขันที่สูงของสถาบันการเงินในเมือง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการก่อหนี้ของคนอายุน้อยและเพิ่งเริ่มทำงาน) เทียบกับ 29% ในชนบท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามช่วงอายุ ซึ่งอาจไม่มีปัจจัยเร่งต่างๆ ข้างต้นเหมือนในบริบทของสังคมเมือง

ยอดหนี้ต่อผู้กู้ของผู้กู้ในชนบทกลับสูงกว่าผู้กู้ในเมือง โดยเฉพาะผู้กู้สูงอายุ ดังนั้น การมีหนี้ในปริมาณมากจนแก่ (หรือการไม่ De-leveraging) ของคนไทยจึงสะท้อนสถานการณ์ในบริบทของคนในชนบท แสดงให้เห็นว่าผู้กู้ในวัยเกษียณ หรือ 60 ปี เป็นต้นไปในชนบทยังคงมีค่ากลางยอดหนี้อยู่สูงถึง 7 หมื่น-1.7 แสนบาท ซึ่งมากกว่าผู้กู้ในวัยเดียวกันในเมืองถึงเกือบ 2 เท่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างเพื่อทำการเกษตร

คุณภาพสินเชื่อของผู้กู้ทั้งสองกลุ่มไม่ได้แตกต่างกันมากนัก โดยสัดส่วน ของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงในผู้กู้อายุน้อย (25-35 ปี) เป็นปัญหาทั้งผู้กู้ในเมืองและชนบท โดยสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงสุดอยู่ที่อายุประมาณ 30-32 ปี ทั้งในเมืองและชนบท และอยู่ที่ประมาณ 20% โดยสัดส่วนจะสูงกว่าสำหรับผู้กู้ในชนบท โดยเฉพาะในผู้กู้สูงอายุ

หากเปรียบเทียบในแต่ละประเภทสินเชื่อ พบว่าส่วนใหญ่คนในเมืองมีสัดส่วนการมีสินเชื่อเกือบทุกประเภทที่สูงกว่าคนในชนบท โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน เว้นแต่สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่คนสูงอายุในชนบทจะมีสัดส่วนการมีหนี้ที่มากกว่า สัดส่วนของคนอายุน้อยในเมืองที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลมีสูง ถึง 45% ซึ่งมากกว่าในชนบทถึง 3 เท่าตัว เช่นเดียวกับการมีสินเชื่อรถยนต์ แต่หากมองสินเชื่อบัตรเครดิตจะพบว่าสัดส่วนของคนในชนบทที่มีบัตรเครดิตมีต่ำกว่าในเมืองถึงกว่า 6 เท่า และมีคุณภาพหนี้ด้อยกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการเกษตร และอาจสะท้อนถึงสถานการณ์ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้สูงวัย และอาจมีการสะสมหนี้จนแก่

อย่างไรก็ดี สินเชื่อที่ทั้งคนเมืองและคนในชนบทเข้าถึงได้มากที่สุดยังคงเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล โดยเฉพาะในกลุ่มวัยเริ่มทำงาน ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนผู้กู้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีหนี้เสียสูงสุดด้วย โดย 20% ของผู้กู้อายุน้อยในเมืองและชนบทจะมีหนี้เสีย เช่นเดียวกับสินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิตในชุมชนเมือง และสินเชื่อรถยนต์ในชนบท

ผู้กู้ในเมืองมักจะมีหลายบัญชีและหลายสถาบันการเงิน ผิดกับผู้กู้ในชนบทที่จะมีหลายบัญชี แต่มักจะกู้จากสถาบันการเงินเดียว ซึ่งโดยเฉลี่ย 75% ของผู้กู้วัยทำงานในเมืองจะมีหลายบัญชี โดยเกือบ 20% ที่มีมากกว่า 5 บัญชี และประมาณ 60% จะใช้สถาบันการเงินมากกว่า 1 แห่ง แตกต่างจากผู้กู้ในชนบทที่มีประมาณ 60% ที่มีหลายบัญชี ซึ่งสัดส่วนสูงขึ้นเล็กน้อยในผู้กู้สูงอายุ แต่โดยเฉลี่ย 72% ของผู้กู้วัยทำงาน และ 90% ของผู้กู้สูงอายุในชนบทยังคงกู้หนี้กับเพียงสถาบันการเงินเดียว

พอร์ตสินเชื่อของผู้กู้ในเมืองมักจะมีหนี้ที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่ได้สร้างรายได้/เพิ่มมูลค่า คือบัตรเครดิตและ สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดในทุกช่วงอายุ

ผิดกับผู้กู้ในชนบทที่มี Segmentation ของประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงินตามอายุที่ชัดเจน โดยพอร์ตของคนในช่วงอายุน้อย จะเริ่มจากมีหลายประเภทสินเชื่อและสถาบันการเงิน โดยจะใช้ Non-Bank เป็นสัดส่วนสูงเนื่องจากเข้าถึงได้ง่าย และเมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีเพียงสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ และสินเชื่อส่วนบุคคล และใช้เพียง สถาบันการเงินของรัฐ (SFI) เป็นหลักเท่านั้น