posttoday

โสดตาย ไม่เสียดาย...

20 มีนาคม 2562

หลายคนคงงงว่าเกี่ยวกับอะไร กับคอลัมน์ Money Tips...ตอบว่าเกี่ยวกันอย่างมาก โดยเฉพาะคนโสด ไม่มีลูกไม่มีหลาน

เรื่อง ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์

หลายคนคงงงว่าเกี่ยวกับอะไร กับคอลัมน์ Money Tips...ตอบว่าเกี่ยวกันอย่างมาก โดยเฉพาะคนโสด ไม่มีลูกไม่มีหลาน เมื่ออำลาโลกนี้ไปจะต้องจัดการภาระทรัพย์สินตัวเองให้เรียบร้อย

มีสถิติแนวโน้มคนไทยโสด ...จะโสดสนิทหรือไม่สนิทก็ตาม รวมไปถึงคู่ที่แต่งงานกันแล้วก็ตั้งใจที่จะไม่มีลูก มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น ทรัพย์สมบัติมรดกที่เหลือจะทำอย่างไรดี? มอบให้ใครเตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

สำหรับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ แล้ว ใช้เงินเดือนชนเดือน ใช่ว่าเราจะ “ไม่มี” “มรดก” ให้ใครอย่างน้อยยังมีเงินจากกองทุน “ประกันสังคม” 2 ส่วน คือ

1.เงินสงเคราะห์และเงินช่วยเหลือค่าทำศพ

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 2 เดือน

- ถ้าก่อนถึงแก่ความตายผู้ประกันตนได้ส่งเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ให้จ่ายเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 6 เดือน

- เงินช่วยเหลือค่าทำศพ 4 หมื่นบาท ต้องมีเอกสารหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพของผู้ประกันตน

** เงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย ให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ประกันตนทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์นั้น หากมิได้ทำหนังสือระบุให้บุคคลใดเป็นผู้รับสิทธิประโยชน์ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้แก่สามีหรือภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนในจำนวนที่เท่ากัน แต่ถ้าเป็น “คนโสด” พ่อแม่เสียไปแล้ว ไม่มีลูกและไม่มีสามี หรือภรรยาที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย เงินทั้งหมดนี้ก็จะต้องส่งคืนกองทุนประกันสังคมไป

2.เงินกองทุนชราภาพ คือ เงินที่เราสะสม
มาตลอดชีวิตทำงานที่จะเก็บไว้ใช้ยามเกษียณ แต่ถ้ามีเหตุที่จะต้องอำลาจากโลกนี้ไปก่อน ที่จะรอใช้เงินเกษียณและไม่มีทายาทที่จะรับมรดกนี้ เงินนี้จะต้องตกเป็นของกองทุนประกันสังคม

กรณีผู้ประกันตน “โสด” เสียชีวิต ถ้าไม่มีพ่อแม่ (เสียชีวิตแล้ว) หรือมี ภรรยา หรือสามี หรือสามีภรรยาไม่ได้จดทะเบียนสมรส (ก็หมดสิทธิ) ถึงจะมีลูกก็ไม่สามารถเบิกได้ นอกจากจะจดทะเบียนรับรองบุตรไว้ก่อนลูกถึงจะได้สิทธิ

ส่วนพี่น้อง หรือบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายก็ไม่มีสิทธิได้เงินตามสิทธิ จะได้แค่เงินสงเคราะห์และเงินช่วยเหลือค่าทำศพ

ดังนั้น “คนโสด” ควรจะต้องทำพินัยกรรมไว้ก่อนว่าจะยกผลประโยชน์เงินกองทุนชราภาพให้ใคร

ข้อแนะนำผู้ประกันตนที่โสดหรือไม่มีทายาท ควรจะเขียนพินัยกรรม หรือทำเอกสารระบุผู้รับผลประโยชน์ในเอกสารหรือพินัยกรรมจะต้องประกอบไปด้วย

- ชื่อผู้มีสิทธิรับประโยชน์ ระบุเลขประจำตัวประชาชนของผู้รับสิทธิประโยชน์และพยานให้ชัดเจน เพื่อเป็นหลักฐานในการแสดงตัวว่าเป็นผู้มีสิทธิรับสิทธิประโยชน์จริง

- เอกสารหรือพินัยกรรมนั้นให้เก็บไว้กับผู้ประกันตนและหรือผู้มีสิทธิรับประโยชน์เก็บไว้เอง เพื่อจะนำไปยื่นที่สำนักงานประกันสังคม เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต

ย้ำผู้ประกันตนที่โสด หรือไม่มีทายาท เนื่องจากหากไม่มีผู้รับประโยชน์เงินทดแทน ส่วนนั้นจะตกเป็นของกองทุนประกันสังคม ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งเพื่อป้องกันปัญหาการอ้างรับประโยชน์ทดแทน

เงินบำเหน็จชราภาพของ “โสด” ตกทอดเป็นมรดกได้

กรณีเสียชีวิตก่อนอายุ 55 ปีบริบูรณ์จะได้รับเป็นเงินบำเหน็จชราภาพ ดังนี้

• กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ผู้รับผลประโยชน์จะได้เงินบำเหน็จชราภาพจำนวนเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ เพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ

• กรณีที่มีการจ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป

ผู้รับผลประโยชน์จะได้เงินบำเหน็จชราภาพ เท่ากับเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายเงินสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน ตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

• กรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี

ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 10 เท่าของเงินบำนาญรายเดือน

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญควรรู้

ผู้มีสิทธิท่านใดยังไม่ได้ยื่นขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีเสียชีวิตของผู้ประกันตนที่เสียชีวิตไปแล้ว ให้มายื่นขอรับสิทธิภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต ณ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัดที่สะดวกที่สุด หากเกินระยะเวลาที่กำหนดไปแล้วเงินทั้งหมดของเราจะตกเข้าเป็นของกองทุนประกันสังคม

ไม่ว่าจะโสดหรือไม่โสด ก็ควรที่จะจัดการจัดทำ “พินัยกรรมมรดก” ไว้ก่อน

หากไม่ทำพินัยกรรมไว้ ใครละได้ผลประโยชน์

คนโสดที่ไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ มรดกจะตกไปเป็นของ “ทายาทโดยธรรม” ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรก คือ คู่สมรส ซึ่งต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย

“คนโสด” ไม่แต่งงานหรือไม่จดทะเบียนก็ข้ามข้อนี้ไปเป็น ประเภทที่ 2 คือ ทายาทที่เป็นญาติของเรา

ทายาทโดยธรรมแบ่งเป็น 6 ลำดับ

การแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างทายาทโดยธรรมนั้นต้องแบ่งตามลำดับชั้นดังต่อไปนี้

1.ผู้สืบสันดาน คือ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว และบุตรบุญธรรม

2.บิดามารดา ในกรณีของบิดา เฉพาะบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นที่มีสิทธิรับมรดก

3.พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

4.พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือมารดาเดียวกัน หรือที่เรามักเรียกกันว่า “พี่น้องต่างพ่อหรือต่างแม่” นั่นแหละ

5.ปู่ ย่า ตา ยาย

6.ลุง ป้า น้า อา

ทางที่ดีที่สุดขอแนะนำว่า ควรที่จะต้องจัดการ ทำเรื่อง “พินัยกรรมชีวิตและทรัพย์สิน” ไว้ก่อนจะดีกว่า

โสดตาย ไม่เสียดาย...