posttoday

ดึงกฤษฎีกาถกตั้งองค์กรอิสระ "เอชไอเอ" ป้องกันขัดระเบียบ

04 มกราคม 2553

โพสต์ทูเดย์-กรรมการ4ฝ่ายฯ ดึงคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมวง 6 ม.ค. หาข้อสรุปตั้งองค์กรอิสระ เข้ามาดูแลปัญหาผลกระทบจากมาบตาพุด

โพสต์ทูเดย์-กรรมการ4ฝ่ายฯ ดึงคณะกรรมการกฤษฎีการ่วมวง 6 ม.ค. หาข้อสรุปตั้งองค์กรอิสระ เข้ามาดูแลปัญหาผลกระทบจากมาบตาพุด

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ โฆษกคณะกรรมการ 4 ฝ่าย เพื่อแก้ไขปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปการจัดตั้งองค์กรอิสระ โดยในวันที่ 6 ม.ค.นี้จะเชิญผู้แทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้ความเห็น เพื่อหาข้อสรุปแนวทางการจัดตั้งองค์กรอิสระ โดยเฉพาะประเด็นที่เป็นห่วงว่าหากจัดตั้งด้วยการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีอาจขัดต่อระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี พ.ศ. 2534

นอกจากนี้ในประเด็นการจัดประเภทกิจการรุนแรง ทางคณะอนุกรรมการที่มีนายธงไชย พรรณสวัสดิ์ เป็นประธาน จะมีการหารือในวันเดียวกันเพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงานโดยเฉพาะการจัดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อเปิดกว้างให้ผู้มีส่วนได้เสียได้แสดงความเห็นในช่วงเช้าวันที่ 6 ม.ค.ก่อนที่จะประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจะได้รายละเอียดทั้งหมด

ด้านนายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก หนึ่งในกรรมการคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ฯ กล่าวว่า  ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา มีประเด็นเป็นห่วงในเรื่องการออกระเบียบสำนักนายกฯสำหรับการจัดตั้งองค์กรอิสระหา เป็นนิติบุคคล และมีองค์กรย่อยที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลอาจทำไม่ได้ จะต้องออกเป็น พ.ร.บ. ซึ่งมีกระบวนการที่ใช้เวลามากอาจล่าช้าเกินไป ดังนั้นจึงต้องหาทางออกร่วมกันเพื่อไม่ให้การจัดตั้งเกิดปัญหาในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งองค์กรอิสระ ในหลักการมีความเห็นสอดคล้องกันว่า จะเป็นองค์กรระดับชาติองค์กรเดียว แล้วมีองค์ประกอบด้วยองค์กรอิสระย่อย เพื่อเสนอความเห็นประกอบต่อองค์กรอิสระใหญ่ มีการทำงานคล้ายกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีคณะทำงานจำนวนมากมาประกอบความเห็นซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะลดปัญหาการผูกขาด

นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรรมการในคณะกรรมการ 4 ฝ่าย กล่าวว่า การหารือถึงการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระมีความเป็นห่วงในเรื่องการตั้งเป็นนิติบุคคลและการจัดสรรงบประมาณในส่วนที่ไม่เป็นนิติบุคคล  โดยจะสรุปกันอีกครั้งวันที่ 6 ม.ค.เพื่อหาทางออก ซึ่งเบื้องต้นอาจไม่จำเป็นที่จะตั้งเป็นนิติบุคคลชั่วคราวเพื่อให้มีทางออกของปัญหา ส่วนเรื่องการจัดสรรงบประมาณอาจใช้วิธีฝากงบไว้กับหน่วยงานรัฐ เช่นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ได้ เพราะทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาฯอยู่แล้ว

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และผลกระทบสุขภาพ(เอชไอเอ) ที่ประกาศออกมาต้องใช้เวลามากว่า  6 เดือนในการดำเนินการ เนื่องจากขั้นตอนปฏิบัติไม่แน่ใจว่าจะติดขัดอะไรอีกหรือไม่เพราะเป็นครั้งแรกที่ใช้  ดังนั้นในระหว่างนี้ผู้ประกอบการที่ถูกระงับกิจการจะเริ่มทยอยยื่นข้อมูลให้กับศาลปกครองกลางเพิ่มเติมเพื่อขอให้คุ้มครองคำสั่งระงับกิจการชั่วคราว โดยเชื่อว่ากลุ่มปตท.จะมีโอกาสยื่นมากที่สุด