posttoday

"กฎหมายวินัยการคลัง" เกราะป้องกันสกัดหาเสียงทำประชานิยม

04 มีนาคม 2562

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯถือเป็นเกราะป้องกันฝ่ายการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ และใช้เงินภาษีประเทศให้เกิดความเสียหาย

พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯถือเป็นเกราะป้องกันฝ่ายการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ และใช้เงินภาษีประเทศให้เกิดความเสียหาย

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) ถือเป็นกฎหมายที่กระทรวงการคลังพยายามผลักดันมากว่า 10 ปี โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้ออกกฎหมายดังกล่าวแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

ต่อมากฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ยังกำหนดให้มีการออก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จนคลังทำสำเร็จกฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อเดือน เม.ย. 2561 โดยสาระสำคัญกำหนดให้มี “คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.คลัง เป็นรองประธาน มีปลัดคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกรรมการ และมีผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นเลขานุการ โดยมีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ได้แก่ การจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง การกำหนดสัดส่วนเพื่อเป็นกรอบในการรักษาวินัยการเงินการคลังในด้านต่างๆ ในการรักษาวินัยการเงินการคลัง

ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดสัดส่วนสำหรับใช้เป็นกรอบวินัยในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประกอบด้วยสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต้องไม่น้อยกว่า 2% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ถือเป็นการป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองตั้งงบกลางไปใช้ในเรื่องที่ไม่จำเป็นมากเกินไป

นอกจากนี้ ยังกำหนดสัดส่วนงบประมาณเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งรัฐบาลรับภาระต้องไม่น้อยกว่า 2.5% แต่ไม่เกิน 3.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีวินัยการชำระหนี้ของประเทศให้ลดลง

ขณะเดียวกันยังมีการกำหนดสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีงบประมาณไม่เกิน 10% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าหรือนอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายไม่เกิน 5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และสัดส่วนที่รัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้ของหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายต้องมียอดคงค้างรวมกันไม่เกินอัตรา 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี เป็นการล็อกไม่ให้ฝ่ายการเมืองก่อหนี้ทั้งในและนอกงบประมาณไปใช้ในโครงการจนทำให้เกิดความเสียหาย

นอกจากนี้ ยังกำหนดสัดส่วนเพื่อใช้เป็นกรอบวินัยในการบริหารหนี้ ประกอบด้วยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 60% สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณต้องไม่เกิน 35% และสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดต้องไม่เกิน 10% รวมถึงสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการต้องไม่เกิน 5% ถือเป็นกำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่เข้มข้นขึ้น

ดังนั้น พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ จึงถือเป็นเกราะป้องกันฝ่ายการเมืองเข้ามาบริหารประเทศ และใช้เงินภาษีประเทศให้เกิดความเสียหาย

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองต่างๆ ขณะนี้ยังไม่ได้มีการเจาะลึกถึงรายละเอียดมากแต่ แต่เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการเร่งดำเนินการนโยบายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนภาครัฐรวมมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาให้เห็น

ทั้งนี้ เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกอาจจะขยายตัวได้ไม่ถึง 4% จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ แต่คาดว่าเมื่อผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว และมีการเบิกจ่ายที่ดีขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจในช่วงครั้งปีหลังขยายตัวได้ ตามการคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลังที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 4%

“เชื่อว่าหลังการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็จะเร่งเดินหน้าเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุน รวมถึงมาตรการที่เกี่ยวกับกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป” นายเชาว์ กล่าว