posttoday

รับมือ‘ตกงาน’กันเถอะ

27 กุมภาพันธ์ 2562

“ตกงาน” อย่าเพิ่ง “ตกใจ” ตั้งสติให้มั่นแม้ว่าสิ้นสุดทางเลื่อน

เรื่อง ชีวรัตน์ กิจนภาธนพงศ์ 

“ตกงาน” อย่าเพิ่ง “ตกใจ” ตั้งสติให้มั่นแม้ว่าสิ้นสุดทางเลื่อน...แต่ยังไม่สิ้นสุดทางที่เราจะก้าวเดินต่อไป

ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกท่านที่กำลังจะกลายเป็นผู้ว่างงาน ...นั้นหมายถึงว่าเราอาจจะก้าวออกไปเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ

“ตกงาน” จะตั้งหลักอย่างไรดี ...มันนี่ทิปส์ฉบับนี้ขอนำเสนอ คู่มือรับมือตกงาน

อันดับแรก

มุนษย์เงินเดือนทุกคนจะอยู่ในระบบประกันสังคม ดังนั้น เริ่มแรกก็มาดูสิทธิของประกันสังคม ใช้สิทธิประกันว่างงาน

1.กรณีถูกเลิกจ้างได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย (ฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท)

ตัวอย่างเช่น มีเงินเดือน 1 หมื่นบาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน

2.กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 90 วัน ในอัตราะ 30% ของค่าจ้างเฉลี่ย เช่น เงินเดือน 1 หมื่นบาท จะได้รับเดือนละ 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน

เมื่อลาออกประกันสังคมสามารถใช้สิทธิประกันสังคมต่อได้อีก 6 เดือน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

ขอย้ำว่า*** ต้องยื่นใช้สิทธิประกันว่างงานภายใน 30 วัน หลังจากถูกเลิกจ้างหรือลาออกจากงานสามารถยื่นใช้สิทธิได้ที่ 1.สำนักงานประกันสังคม 2.ผ่านระบบออนไลน์สามารถลงทะเบียนผ่านเว็บ (ใช้บัตรประชาชน) https://empui.doe.go.th/auth/register_member/1

รับมือ‘ตกงาน’กันเถอะ

สิทธิรักษาพยาบาล

หลายคนกังวลว่าหากไม่เป็นผู้ประกันตนจะเสียสิทธิการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วยมี 2 ทางเลือก คือ

1.เลือกใช้สิทธิประกันสังคมต่อ โดยจะต้องสมัครเป็นผู้ประกันมาตรา 39 ...หรือที่เรียกว่าการประกันตนภาคสมัครใจคือ ผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 มาก่อน แต่เกิดตกงานหรือลาออก แล้วยังต้องการรับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมอยู่

โดยผู้ประกันตนจะส่งเงินเข้ากองทุน 432 บาท/เดือน (ฐานเงินเดือนมาคำนวณ 1,650 บาท) และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาท/เดือน ซึ่งจะได้รับความคุ้มครอง 6 กรณี คือ กรณีเจ็บป่วย/อุบัติเหตุ ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ กรณีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง

2.สมัคร “บัตรทอง” หรือใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นสวัสดิการของรัฐ แนะนำว่าให้ไปสมัครหรือลงทะเบียน “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือเรียกกันว่า บัตรทอง จะดีกว่า ไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะปัจจุบันการรักษาพยาบาลแทบจะไม่แตกต่างจากประกันสังคม และเงินแต่ละเดือนที่จะต้องจ่ายสมทบประกันสังคมนำมาซื้อประกันสุขภาพเพิ่มก็เป็นทางเลือกหนึ่งสามารถที่จะลงทะเบียนได้

ในกรุงเทพฯ สามารถสมัครได้ที่สำนักงานเขต 30 แห่งที่กำหนด (สามารถเช็กได้ที่ http://ebook.dreamnolimit.com/nhso/004/สำหรับจังหวัดอื่นๆ สมัครได้ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลรัฐ และสำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด

รับมือ‘ตกงาน’กันเถอะ

เงินออมชราภาพ

ตกงาน หรือลาออกจากประกันสังคมเรายังคงได้สิทธิเงินบำนาญชราภาพ ผู้ประกันตน จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ เมื่ออายุ 55 ปี

เงินบำเหน็จชราภาพ

l กรณีจ่ายเงินสมทบน้อยกว่า 12 เดือน

จะได้รับเงินบำเหน็จ = เงินที่เราจ่ายสมทบ

lกรณีจ่ายสมทบมากกว่า 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน

จะได้รับเงินบำเหน็จ = เงินสมทบผู้ประกันตน+นายจ้างสมทบ และผลประโยชน์

l จ่ายสมทบมากกว่า 180 เดือน หรือ 15 ปี

จะได้รับเงินบำนาญ = 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ส่วนเกิน 180 เดือน บวกเพิ่มขึ้นไปอีก 1.5% ทุกๆ 12 เดือน หรือ 1 ปี เช่น จ่ายเงินสมทบ 30 ปี ก็จะได้รับบำนาญเป็น 20%+(1.5%x15 ปี) เท่ากับ 42.5%

หมายเหตุ : ถ้าสมัครผู้ประกันตนมาตรา 39 ต่ออายุ 55 ปี จะได้รับเงินบำนาญชราภาพตามฐานเงิน 60 เดือนสุดท้ายเฉลี่ย นั่นหมายความว่า เราจะได้แค่ฐานเงินเดือน 1,650 บาท คูณประมาณ 25-30% จะได้บำนาญเดือนละประมาณ 400-449 บาท/เดือน

แต่ถ้าลาออกประกันสังคมแล้ว ในขณะที่ฐานเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท การคำนวณเงินบำนาญชราภาพ เช่น กรณีจ่ายเงินสมทบ 180 เดือนหรือ 15 ปี

จะได้เงินบำนาญ 3,000 บาท/เดือน (20% ของเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท )

กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.)

อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สมาชิกกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.)

หลังจากออกจากผู้ประกันตนแล้ว แนะนำว่าควรจะสมัครเป็นสมาชิก กอช. เพื่อเป็นเงินออมเก็บไว้ใช้ยามชราภาพอีกก้อนหนึ่ง

เงื่อนไขเบื้องต้นเก็บเงินขั้นต่ำเดือนละไม่ต่ำกว่า 50 บาท แต่ไม่เกิน 1.32 หมื่นบาท/ปี และไม่จำกัดว่าต้องส่งเงินต่อเนื่องทุกปี และรัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้อีกส่วนหนึ่งตามช่วงอายุ และสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

พร้อมทั้งยังมีการการันตีผลตอบแทนเท่ากับอัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือนของ 5 ธนาคารใหญ่ สนใจรายละเอียดก็สามารถที่จะเข้าไปดูเว็บไซต์ http://www.nsf.or.th/ เพื่อที่จะคำนวณเบื้องต้นว่าจะมีเงินเก็บเท่าไร ก็จะเป็นเงินอีกก้อนหนึ่งให้เราใช้ในยามชราภาพ

ในขณะเดียวกันเรายังต้องบริหารชีวิตและจิตใจให้พร้อมที่จะก้าวเดินต่อไป

บริหารเงินอย่างไรดี

เมื่อสะสางสิทธิประโยชน์ที่ “มนุษย์เงินเดือน” ที่พึ่งจะได้ตามกฎหมายแล้ว ยังมีอีกส่วนที่สำคัญเงินชดเชยการเลิกจ้างตามกฎหมาย และเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งจะต้องบริหารเงินก้อนนี้ให้ดีที่สุด

ตรวจสุขภาพการเงิน

เมื่อว่างงาน แน่นอนว่ารายได้เราจะหายไป แต่ยังมีรายจ่ายส่วนใหญ่ยังอยู่ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจเช็กข้อมูลทางการเงินของตนเองว่า มีสินทรัพย์ หนี้สิน เงินลงทุน ภาระผูกพันอะไรอยู่บ้าง ยังมีแหล่งรายได้ที่ยังเหลืออยู่บ้างไหม และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ของตนเองและครอบครัวอยู่เท่าไร

เพื่อที่จะบริหารเงินให้ดีในระหว่างที่ยังหางานไม่ได้อาจจะต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง

แต่หลังจากออกจากงานจะมีเงินก้อนออกมา 2 ส่วน คือ เงินชดเชยตามกฎหมาย กับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นโจทย์หนึ่งที่สำคัญต่อไปจะบริหารจัดการเงินก้อนนี้อย่างไร

กองทุนเงินสำรองเลี้ยงชีพ

หลังจากออกจากงานแล้ว จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรดี

1.ยังคงไว้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างต่อ เสียค่าบริหารจัดการปีละประมาณ 500 บาท ซึ่งยังได้รับเงินผลประโยชน์ในการลงทุนต่อ แล้วรอจนกระทั่งย้ายไปที่ทำงานใหม่ ซึ่งอาจจะโอนย้ายไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่ได้

2.โอนย้ายไปยังกองทุนรวม RMF ข้อดีคือ เพื่อให้สามารถออมเงินต่อเนื่องได้เท่าที่ต้องการ สามารถที่จะเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง และช่วยเรื่องภาษีอีกด้วยคือ ไม่ต้องเสียภาษี

3.นำเงินไปลงทุนต่อเอง ถ้าเป็นทางเลือกนี้จะต้องเสียภาษี และต้องสามารถลงทุนได้ผลตอบแทนที่ชนะทั้งผลตอบแทนของ SET Index และกองทุนประเภทหุ้นแบบ Active Fund

ตัวอย่างการเสียภาษี

l อายุงานน้อยกว่า 5 ปี ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี จะต้องยื่นรวมไปกับเงินได้ประจำปีภาษี โดยเงินที่จะต้องคำนวณการเสียภาษีคือ เงินที่นายจ้างสมทบและผลประโยชน์จากการลงทุน

เช่น ทำงานมา 4 ปี ได้รับเงินจากกองทุน 1.5 แสนบาท โดยมีเงินสะสมของตัวเอง 7 หมื่นบาท

และมีเงินสมทบจากนายจ้าง 7 หมื่นบาท พร้อมผลประโยชน์จากการลงทุน 1 หมื่นบาท

ดังนั้น เงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษีคือ เงินสมทบจากนายจ้าง 70,000+ผลประโยชน์ 10,000 = 80,000 บาท

จะเสียเงินสำหรับภาษีเท่าไร ก็ให้คำนวณจากฐานการเสียภาษีอีกครั้ง

l อายุงาน 5 ปีขึ้นไป แต่อายุไม่เกิน 55 ปี จะต้องยื่นแยกในการเสียภาษี

ดังนั้น เงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษี คือ

[(เงินสมทบจากนายจ้าง+เงินผลประโยชน์การลงทุน)–(7,000xอายุงาน)]/2

โดยเงินก้อนนี้นำไปแยกยื่นได้ ไม่ต้องไปรวมกับเงินได้ประจำปีภาษี

เช่น ทำงานมาแล้ว 6 ปี ได้รับเงินจากกองทุน 2.5 แสนบาท โดยเป็นเงินสะสมของตัวเอง 1 แสนบาท และมีเงินสมทบจากนายจ้าง 1 แสนบาท พร้อมผลประโยชน์จากการลงทุน 5 หมื่นบาท

ดังนั้น เงินได้ที่จะนำมาคำนวณภาษีคือ 150,000 = เงินสมทบจากนายจ้าง 100,000+ผลประโยชน์ 50,000 = 150,000 บาท

เงินที่จะต้องนำไปคิดเสียภาษี คือ [(150,000-(6×7,000)]/2 = 54,000 บาท

จะเสียเงินสำหรับภาษีเท่าไร ก็ให้คำนวณจากฐานการเสียภาษีอีกครั้ง

l อายุสมาชิกของกองทุน 5 ปีขึ้นไป และอายุ 55 ปีขึ้นไป ไม่ต้องเสียภาษี

มีเงินก้อนโปะหนี้ดีกว่าไหม

ได้เงินจากการออกจากงานมาแล้วก้อนหนึ่ง หลายคนคิดมีคำถามว่าจะเอามาโป๊ะหนี้ดีกว่าไหม

แนะนำว่า ถ้ามีเงินมากพอการปลดหนี้เป็นทางเลือกที่ดี จะทำให้ลดภาระผ่อนจ่ายชำระหนี้ต่อเดือน ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย

แต่ถ้าเงินไม่มากพอ แนะนำให้ปลดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงก่อน เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และหนี้บ้าน ตามลำดับ

หลักคิดง่ายๆ ผลตอบแทนของเงินก้อนนั้น อะไรให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด

- เก็บเงินก้อนฝากไว้ไม่ทำอะไรเลยกินดอกเบี้ยฝากประจำประมาณ 1.5% ต่อปี ค่าเงินก็ลดลงเรื่อยๆ

- ชำระหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ยจ่าย เช่น บัตรเครดิตดอกเบี้ย 20% ดอกเบี้ยบ้าน 6-7%

หมายความว่า ถ้านำเงินที่มีมาโปะหนี้ก้อนนี้ก็เหมือนนำเงินไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า 6-20% (อัตราดอกเบี้ยจ่าย)

แต่หากจะหาทางเลือกในการลงทุนอื่นที่ได้ผลตอบแทนมากกว่านี้ ก็คงหาได้ยากมาก เพราะแม้แต่ตลาดหุ้นเองในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังเติบโตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี ก็ถือว่ามีความเสี่ยง

และที่สำคัญเมื่อมีเงินก้อนมากควรจะเก็บเงินสำรองไว้สักก้อนหนึ่งประมาณ 6 เท่าของรายจ่าย เพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

เรื่องภาษีก็ต้องคิด

กรณีที่ถูกเลิกจ้างแล้วได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายมาตรา 118

ยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินชดเชยสำหรับส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างของการทำงาน 300 วันสุดท้าย แต่ไม่เกิน 3 แสนบาท

ขั้นตอนถัดมาให้พิจารณาที่อายุงาน ในกรณีที่มีอายุงานไม่น้อยกว่า 5 ปี สามารถเลือกแยกยื่นภาษีตามมาตรา 48(5) แต่ถ้าอายุงานน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานไปยื่นรวมกับเงินได้ตามปกติ

ขอให้ทุกท่านโชคดี กับชีวิตใหม่

รับมือ‘ตกงาน’กันเถอะ

รับมือ‘ตกงาน’กันเถอะ