posttoday

ยึดใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์ หลังผ่านไป1ปี ยังไม่ยอมเปิดให้บริการ

20 กุมภาพันธ์ 2562

สศค.จ่อยึดใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์คืน 8 ใบ หลังผ่านไป 1 ปีแล้ว ไม่ยอมเปิดให้บริการ มียอดเงินปล่อยกู้สะสม 3.03 หมื่นบัญชี

สศค.จ่อยึดใบอนุญาตพิโกไฟแนนซ์คืน 8 ใบ หลังผ่านไป 1 ปีแล้ว ไม่ยอมเปิดให้บริการ มียอดเงินปล่อยกู้สะสม 3.03 หมื่นบัญชี


นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค.เตรียมลงพื้นที่เพื่อ ความเข้าใจและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด หรือ พิโกไฟแนนซ์ ที่ยังมีใบอนุญาตค้างอีกราว 300-400 ราย ซึ่งมีทั้งรายที่ยื่นเอกสารไว้ และ รายที่ได้รับอนุญาตแล้วแต่ยังไม่เปิดดำเนินการ ให้เร่งเปิดดำเนินการ หากได้รับใบอนุญาตแล้วเกิน 1 ปียังไม่เปิดดำเนินการ ทาง สศค.จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลว่ายังมีความพร้อมอยู่หรือไม่ ขณะนี้คาดว่าจะมีจำนวน 8 ราย ที่จะพิจารณาขอใบอนุญาตคืน

นอกจากนี้ สศค.ยังเตรียมพัฒนาระบบการยื่นคำขอใบอนุญาตใหม่ โดยจะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาพัฒนาให้ผู้ยื่นคำร้องมีความสะดวกสบายมากขึ้นหากเอกสารครบ คาดว่า สศค.จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือนในการให้ใบอนุญาตได้ ส่วนสาเหตุหลักของผู้ประกอบการที่ยื่นคำร้องแล้วแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากเขียนแผนธุรกิจไม่ได้ ทำให้ สศค.ไม่มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

สำหรับผลการดำเนินงานสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ หรือสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 จนถึง ณ สิ้นเดือน ส.ค. 2561 มีนิติบุคคลยื่นคำขออนุญาตทั้งสิ้น 579 ราย ใน 67 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ จ.นครราชสีมา 52 ราย กรุงเทพมหานคร 46 ราย และ จ.ร้อยเอ็ด 35 ราย

ทั้งนี้ มีจำนวนที่คืนคำขออนุญาต ทั้งสิ้น 92 ราย ใน 45 จังหวัด จึงมีนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิ 487 ราย ใน 65 จังหวัด และมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 386 ราย ใน 64 จังหวัด ในจำนวนนี้ได้เปิดดำเนินการแล้ว 310 ราย ใน 63 จังหวัด และมีผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 287 ราย ใน 60 จังหวัด โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตสามารถปล่อยสินเชื่อได้ภายในเขตจังหวัดให้แก่ผู้มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ภายในจังหวัดนั้นๆ วงเงินรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 36% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2561 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสม 3.03 หมื่นบัญชี รวมเป็นเงิน 785 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ย 2.5 หมื่นบาท/บัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกัน 1.58 หมื่นบัญชี เป็นเงิน 474 ล้านบาท คิดเป็น 60.47% และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน 1.44 หมื่นบัญชี เป็นเงิน 310 ล้านบาท คิดเป็น 39.53% ขณะที่ยอดสินเชื่อคงค้างรวม มีทั้งสิ้น 1.35 หมื่นบัญชี คิดเป็นเงิน 329 ล้านบาท สำหรับสินเชื่อค้างชำระเกิน กว่า 3 เดือน หรือ เอ็นพีแอล จำนวน 276 บัญชี คิดเป็นเงิน 8.06 ล้านบาท หรือ 2.45%