posttoday

แบงก์แข่ง AI บริการเงินกู้ทันใจ

11 กุมภาพันธ์ 2562

“Data is the New Oil” เป็นคำที่ได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในโลกของธุรกิจ ที่บ่งบอกถึงความสำคัญของ ดาต้าหรือฐานข้อมูล

เรื่อง ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์ 

“Data is the New Oil” เป็นคำที่ได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในโลกของธุรกิจ ที่บ่งบอกถึงความสำคัญของ ดาต้าหรือฐานข้อมูล ที่ไหลเวียนอยู่ในโลก เพราะดาต้าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจได้หลากหลาย โดยเฉพาะการรู้จักคนแต่ละคนแบบ “ปัจเจก” แม้ในรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่มีใครเหมือนใคร 100% แม้ว่าจะเป็นฝาแฝดกันก็ตาม

ในโลกการเงิน 4.0 ดาต้าเป็นสุดยอดสินทรัพย์ที่มีค่ามหาศาล ที่จะนำมาใช้ประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์การเงินและบริการให้เฉพาะเป็นรายบุคคล

ดาต้าถูกสะสมมาตั้งแต่ยุคอะนาล็อก แต่นำมาใช้ประโยชน์ได้จำกัด เพราะต้องใช้คนวิเคราะห์ข้อมูล แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านยุคสมัยจากอะนาล็อกมาสู่ดิจิทัล เหมือนเปิดประตูสู่โลกใหม่แห่งยุคฐานข้อมูล ดาต้าที่เก็บมาเป็นแสนเป็นล้านดอทในองค์กรจะถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีล้ำๆ เป็นช่องทางสร้างรายได้ในบริบทของโลกใหม่แบบ New Normal

ดาต้าสำคัญแค่ไหน ไม่ต้องดูไกล ให้มองความต้องการบุคลากรของภาคการเงิน ที่ตอนนี้เสาะหา นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) คนที่เก่งด้านวิเคราะห์ รวมทั้งมีการลงระบบไอทีโดยให้ความสำคัญกับการวางระบบฐานข้อมูลและการประมวลผล (Big Data & Data Analytics) เป็นหลัก

เจาะลึกเข้าไปอีกในภาคธนาคาร พอจะมองเห็นไทม์ไลน์ของแผนการสร้างรายได้ใหม่จากดาต้าผ่านยุทธศาสตร์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สัญญาณดังตั้งแต่การบูมดิจิทัลแบงก์กิ้ง การพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น ใช้ทำธุรกรรมการเงินที่ง่าย และขยายไปสู่ฟีเจอร์ที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ เช่น การดูหนัง การช็อปปิ้ง

ต่อไปนี้ คือ คำถาม-คำตอบจาก AI Chatbot

ทำไมไม่เป็นแอพเพื่อทำธุรกรรมอย่างเดียว? ก็เพราะธนาคารต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ในไลฟ์สไตล์ทุกอย่างของลูกค้า

เพื่ออะไร? ก็เพื่อเข้าใจลูกค้าของตัวเองให้มากที่สุด ว่าเป็นคนแบบไหน ชอบอะไร พฤติกรรมการจับจ่ายใช้เงินไปกับอะไร แม้แต่เรียกแท็กซี่กี่โมง ดูหนังรอบไหน ไปเที่ยวในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลที่ธนาคารมี อาจจะรู้จักตัวลูกค้ามากกว่าเจ้าตัวอีก

ก็แล้วจะรู้ไปทำไมเล่า? (ไม่โมโหสิ) ก็เมื่อเข้าใจความต้องการลูกค้า เข้าใจพฤติกรรมลูกค้า ก็จะรู้ว่าลูกค้าเหมาะกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบไหน สิ่งใดที่ขาดไป เช่น การออม ก็จะเสนอให้ออม เพื่อตัวลูกค้า ช่วงใดที่ต้องการเงิน ก็จะเสนอสินเชื่อไปหมุนเวียนในธุรกิจหรือชีวิตประจำวัน และถ้าเข้าใจพฤติกรรมรวมทั้งวินัยของลูกค้า ก็จะได้เสนอดอกเบี้ยสูงต่ำตามความเสี่ยงได้

ทั้งหมดที่กล่าวมา ลูกค้าไม่ต้องขอ ไม่ต้องสมัคร...พอธนาคารประมวลผลข้อมูลปั๊บ ก็จะทำนายปุ๊บ และส่งข้อเสนอต่างๆ ไปถึงลูกค้าเอง ผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น ส่วนลูกค้าจะรับข้อเสนอหรือปฏิเสธ ใช้สิทธิตัวเองให้เต็มที่เหมือนการใช้สิทธิเลือกตั้งยังไงอย่างนั้น

เดี๋ยวก่อน...แล้วรู้จักเราได้ยังไงแค่เห็นข้อมูล? เข้าเรื่องเลย ก็เพราะมีเอไอ (AI) ไงล่ะ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นสมองกลที่ประมวลผลลัพธ์ออกมาในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่ง AI จะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อมีฐานข้อมูลที่ใหญ่และมากพอให้ระบบได้เรียนรู้ข้อมูล หรือแมชีน
เลิร์นนิ่ง (Machine Learning)

ตอบคำถามมาพอหอมปากหอมคอ ระหว่างนี้โมบายแบงก์กิ้งของธนาคารก็สะสมฐานข้อมูลของลูกค้ามาได้มากพอสมควร ประมวลผลแม่นยำในระดับที่น่าพอใจ ก็พร้อมจะเทกออฟเข้าสู่เฟสต่อไป นั่นก็คือ “การปล่อยกู้ผ่านช่องทางดิจิทัล” หรือดิจิทัลเลนดิ้ง (Digital Lending)
เห็นได้จากแต่ละธนาคารประกาศกลยุทธ์ออกมาแล้ว และหนึ่งในแผนธุรกิจที่มีเหมือนกัน คือ ดิจิทัลเลนดิ้ง

ทำไม? (ถามอีกแล้วเหรอ) เรื่องนี้เล่ายาวเลย รายละเอียดเยอะมาก แต่สามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่า รายได้ค่าธรรมเนียมหายไป ต้องหารายได้ดอกเบี้ยเข้ามาแทน จบ!

สั้นไปไหม? ขยายความอีกนิดก็ได้ว่า ดอกเบี้ยที่คิดได้แพงสุด คือ สินเชื่อบุคคล 28% รองลงมา สินเชื่อบัตรเครดิต 18% เป็นพื้นที่ใหม่ที่ธนาคารจะเข้าไปช่วงชิง

ทีนี้ต้นทุนต้องไม่แพง ก็สบช่องทางดิจิทัลที่ต้นทุนถูกมาก ถูกอย่างแรก ไม่ต้องใช้คน ไม่ต้องไปสาขา ไม่ต้องการกระบวนการเอกสารเปเปอร์ ถ่ายรูปส่งได้ ถูกอย่างที่สอง ความเสี่ยงลดลง เพราะมี AI ประมวลผล และประเมินความเสี่ยงมาแล้ว

ไม่เชื่อ...สินเชื่อไม่มีหลักประกันเสี่ยงมากกว่าอยู่ดี? ถูกต้อง สินเชื่อไม่มีหลักประกันเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยง ถึงได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้คิดดอกเบี้ยได้ถึง 28%

ส่วนการที่ธนาคารลงมาทำตลาดดิจิทัลเลนดิ้งในกลุ่มสินเชื่อไม่มีหลักประกันก่อน ก็เพราะ “วงเงิน” น้อยกว่าสินเชื่อประเภทอื่น เหมาะมากในการทดสอบดิจิทัลเลนดิ้งในระยะแรก ว่า AI ที่ใช้มีประสิทธิภาพ แม่นยำดีหรือไม่ ถ้ายังไม่ดีพอ เกิดระบบคำนวณความเสี่ยงผิดพลาดจนเป็นหนี้เสีย ก็เสียหายวงเงินน้อย ไม่กระทบฐานะความมั่นคงของธนาคาร

ไม่ถามมากแล้วเจ็บคอ...เอาเป็นว่าธนาคารไหนบ้างที่มีดิจิทัลเลนดิ้ง? ระบบดิจิทัลเลนดิ้งมีกระบวนการใช้ AI ประมวลข้อมูลจากธุรกรรม จากนั้นแจกแจงออกมาเป็นยอดผ่อน ดอกเบี้ยตามความเสี่ยง นำเสนอให้ลูกค้าผ่านโมบายแอพ หากกดยอมรับ เงินเข้าบัญชีเลย ใช้เวลาไม่กี่นาที

........................................

แล้วมหาสมุทรสีแดง (Red Ocean) จะถูกย้อมด้วยเลือด เพราะตลาดสินเชื่อไม่มีหลักประกันมีการแข่งขันสูงจากนันแบงก์อยู่ก่อนแล้ว โดยก่อนหน้านี้ธนาคารจะมีลงมาแจมบ้าง แต่จากนี้ต่อไปจะเห็นการแข่งขันฟาดฟันดุดันเลือดสาดแน่นอน เมื่อธนาคารใหญ่พร้อมแล้วที่จะเข้ามาร่วมวงชิงเค้ก ด้วยฐานทุนที่ใหญ่กว่า เทคโนโลยีที่ล้ำกว่า แน่นอนว่า ข้อเสนอย่อมดีกว่าและยังรวดเร็วกว่าด้วย แต่เจ้าตลาดคงไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าต้องงัดกลยุทธ์มาต่อสู้รักษาฐานลูกค้าอยู่แล้ว

สินเชื่อแบบมีหลักประกันอย่าเพิ่งน้อยใจ เพราะดิจิทัลเลนดิ้งของสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเอสเอ็มอีมีแน่ แต่รอหน่อย เพราะด้วยกระบวนการมาก เอกสารเยอะ และวงเงินสูง ต้องรอบคอบในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบคัดกรองความเสี่ยง โดยสุดท้ายหนีไม่พ้น กระบวนการสินเชื่อทุกประเภทต้องมารันบนดิจิทัล ซึ่งจะเป็น New Normal น่าจะ 1-2 ปีนี้ต้องเห็น

แนะนำให้จับตาการเปลี่ยนผ่านของภาคธนาคาร เพราะสามารถเป็นต้นแบบที่ดีของอุตสาหกรรมที่ถูกดิสรัป ทั้งการวางแผนปรับตัว การเปลี่ยนวิธีคิด พลิกโมเดลธุรกิจ ทำวิกฤตให้เป็นโอกาส ซึ่งจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในนั้นก็คือ ดิจิทัลเลนดิ้ง นี่เอง

จบการสนทนาจาก AI : ขอบ-คุณ-ค่ะ