posttoday

"ธนาคารออมสิน"ชี้เศรษฐกิจรากหญ้าเริ่มดีขึ้น

04 กุมภาพันธ์ 2562

"ธนาคารออมสิน" เผยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาส 4 ปี 2561 ดีขึ้นต่อเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

"ธนาคารออมสิน" เผยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาส 4 ปี 2561 ดีขึ้นต่อเนื่องจากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาส 4 ปี 2561 ดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่าในไตรมาสหน้าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการขยายมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปอีก 6 เดือน

ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำไตรมาส 4 ปี 2561 ได้ดำเนินการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ทั่วประเทศจำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่าดัชนี GSI ไตรมาส 4 ปี 2561 อยู่ที่ระดับ 45.9 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 43.8

ทั้งนี้ เนื่องจากประชาชนฐานรากมีความเชื่อมั่นในมาตรการภาครัฐที่ยังมุ่งให้ความช่วยเหลือกับประชาชนฐานรากอย่างต่อเนื่อง อาทิ มาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (500 บาทได้รับครั้งเดียว) มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าเช่าบ้าน ส่งผลให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น สำหรับ GSI ในอนาคต อีก 6 เดือนข้างหน้าประชาชนฐานรากมีมุมมองที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.6 เนื่องจากมีความคาดหวังจากความชัดเจนทางการเมืองในเรื่องการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 นี้ และนโยบายภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาองค์ประกอบดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ เทียบกับไตรมาสก่อน พบว่าด้านการจับจ่ายใช้สอย การออม การหารายได้ โอกาสในการหางานทำ และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น มีเพียงความสามารถในการชำระหนี้สินที่ปรับลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมฟื้นตัวจากการกระตุ้นของนโยบายภาครัฐ ประกอบกับปลายปีเป็นช่วงที่ต้องมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นสำหรับเทศกาลปีใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าประชาชนฐานรากมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นในด้านการจับจ่ายใช้สอย ความสามารถในการชำระหนี้ การหารายได้ ส่วนด้านการออม โอกาส ในการหางานทำ และภาวะเศรษฐกิจปรับตัวลดลง

"ธนาคารออมสิน"ชี้เศรษฐกิจรากหญ้าเริ่มดีขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานรากในไตรมาสหน้าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการขยายมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไปอีก 6 เดือน และผู้ถือบัตรยังสามารถเบิกเป็นเงินสดได้ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากราคาสินค้าเกษตรบางรายการยังอยู่ในระดับต่ำ และภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมที่อาจชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก

ด้านปัจจัยบวกเศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัวต่อเนื่อง จากการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ราคาเชื้อเพลิงปรับลดลงเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปลายปีผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติม อาทิ การสนับสนุนค่าใช้จ่ายช่วงปีใหม่ 500 บาทต่อรายการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าเช่าบ้าน รวมทั้งอัตราการจ้างงานและผู้ว่างงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านปัจจัยลบ ราคาสินเกษตรบางรายการยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อาทิ ยางพารา อ้อยโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และมันสำปะหลัง ส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อของเกษตรกรกลุ่มนี้ ในขณะเดียวกันการส่งออกของไทยที่ต้องพึ่งพาตลาดจีนชะลอตัว อาทิ ยางพาราและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน