posttoday

สื่อเผยคันทรี่กรุ๊ป ถูกลากโยง1MDB

26 มกราคม 2562

สื่อนอกเผยบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป-แบงก์สิงคโปร์ ถูกเชื่อมโยงการสอบคดีทุจริตฉาวกองทุนมาเลเซีย

สื่อนอกเผยบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป-แบงก์สิงคโปร์ ถูกเชื่อมโยงการสอบคดีทุจริตฉาวกองทุนมาเลเซีย

บลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนกรณีการทุจริตในกองทุนวันเอ็มดีบีของมาเลเซียว่า เจ้าหน้าที่พบข้อมูลว่า นายโจ โลว์ นักธุรกิจชาวมาเลเซียซึ่งเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสำคัญในคดีนี้ อาจยักยอกเงินจากการขายตราสารอิสลาม วงเงิน 5,000 ล้านริงกิต (ราว 3.8 หมื่นล้านบาท) ที่เกี่ยวพันถึงธนาคารเอเอ็มเอ็มบี โฮลดิ้งส์ (แอมแบงก์) ในมาเลเซีย และบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป ในประเทศไทย เมื่อปี 2009

รายงานระบุว่า เจ้าหน้าที่กำลังตามสอบการขายหุ้นกู้ดังกล่าวของกองทุนการลงทุนรัฐตรังกานู (TIA) หรือชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนเป็นกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ (วันเอ็มดีบี) โดยทีไอเอ ซึ่งมีนายโลว์เป็นที่ปรึกษาให้ในขณะนั้น ให้แอมแบงก์เป็นผู้จัดการออกหุ้นกู้ดังกล่าว และแอมแบงก์เองก็มีบริษัทที่เกี่ยวข้องอยู่หลายแห่งทั้งในประเทศไทยและสิงคโปร์ด้วย

ในการขายตราสารอิสลามแบบ Medium Term Notes (IMTN) อายุ 30 ปี ที่รัฐบาลให้การรับประกันเมื่อเดือน พ.ค. 2009 นั้น แอมแบงก์ได้ขายให้กับบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป ในไทย 3,800 ล้านริงกิต (ราว 2.91 หมื่นล้านบาท) ขายให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในสิงคโปร์อีก 700 ล้านริงกิต (ราว 5,363 ล้านบาท) และแอมแบงก์ซื้อไว้เอง 500 ล้านริงกิต (ราว 3,831 ล้านบาท) โดยผู้ซื้อทั้ง 3 รายยังซื้อได้ในราคาถูกกว่าที่กำหนดไว้ราว 87 ริงกิต จากราคาขาย 100 ริงกิต

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เริ่มสงสัยธุรกรรม ดังกล่าว เนื่องจากพบว่ากลุ่มที่ทำธุรกรรมดังกล่าวได้ขายตราสารต่อเพื่อทำกำไรภายในวันเดียวกันกับที่ซื้อมา โดยแอมแบงก์ช่วยให้สามารถขายต่อให้นักลงทุนท้องถิ่นในมาเลเซียได้ในราคา 100-105 ริงกิต ทำให้เจ้าหน้าที่สงสัยว่าเหตุใดแอมแบงก์จึงไม่ขายให้นักลงทุนท้องถิ่นโดยตรง และยังจับตาว่าบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป ซึ่งเป็นตัวละครใหม่ในมหากาพย์ทุจริตวันเอ็มดีบี มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่

อย่างไรก็ดี บลูมเบิร์กระบุว่า ได้พยายามติดต่อไปยังนายวีรพัฒน์ เพชรคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป เพื่อสอบถามแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ขณะที่นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ เกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนคดีวันเอ็มดีบีของมาเลเซีย

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่มาเลเซียได้มุ่งเป้าตามรอยเงินที่สาวถึงนายโลว์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของทีไอเอ และแอมแบงก์ซึ่งอาจมีส่วนช่วยสนับสนุน โดยนายโลว์และผู้ช่วย นายอีริค ตัน ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงิน 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เกือบ 4,000 ล้านบาท) จากการขายตราสารดังกล่าว ภายใต้การทุจริตในกองทุนวันเอ็มดีบี 4,300 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.36 แสนล้านบาท)