posttoday

เตือนแก๊งฉกข้อมูลแบงก์

23 มกราคม 2562

ลูกค้าแบงก์ผวา ถูกมิจฉาชีพอาละวาด ส่งเมลว่อน หลอกล้วงข้อมูลดูดเงินออกจากบัญชีเงินฝาก

ลูกค้าแบงก์ผวา ถูกมิจฉาชีพอาละวาด ส่งเมลว่อน หลอกล้วงข้อมูลดูดเงินออกจากบัญชีเงินฝาก

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ม.ค.นี้ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยภาคการธนาคาร (TB-CERT) ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับภาคธนาคารได้เตรียมชี้แจงรายละเอียดและพูดคุยถึงแนวทางวิธีป้องกันปัญหาดังกล่าว ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ หรือให้รู้เท่าทันกลโกง และมีวิธีรับมือภัยจากโลกไซเบอร์ต่างๆ

หลังจากช่วงที่ผ่านมามิจฉาชีพ ได้พัฒนากลวิธีการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์เพื่อขโมยเงินจากบัญชีลูกค้า ซึ่งล่าสุด มีการส่งอีเมลปลอมและส่งลิงค์เว็บไซต์ปลอม (ฟิชชิ่ง) หลอกให้เหยื่อคลิกเพื่อยืนยันตัวตน และขโมยยูสเซอร์เนม พาสเวิร์ดไป หรือหลอกขอเลขบัญชีนำไปผูกกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-วอลเล็ต การหลอกให้ใส่รหัสผ่าน หรือข้อมูลส่วนตัวในอีเมลปลอม แม้แต่การแก้ไขข้อมูลบนหน้าเช็คและนำไปขึ้นเงิน เป็นต้น
         
นายปรีดี กล่าวว่า สมาคมธนาคารไทยจะเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ 10 เรื่องที่ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ไม่ควรทำ เพื่อป้องกันปัญหาการถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพ อย่างไรก็ตามสมาคมธนาคารไทยจึงอยากให้ผู้ใช้ระมัดระวังตัวเอง และขอยืนยันว่า ธนาคารไม่เคยมีนโยบายให้ลูกค้ายืนยันตัวตนผ่านอีเมลแต่อย่างใด

"ขอย้ำว่าธนาคารพาณิชย์ไม่มีนโยบายที่จะขอรหัสผ่านบัญชีของลูกค้า หมายเลขบัตร หรือขอข้อมูลส่วนตัว หากพบกรณีนี้เกิดขึ้นขอให้ลูกค้าสันนิษฐานไว้ก่อนว่าไม่เป็นเรื่องปกติ รวมถึงเพื่อป้องกันถูกหลอกลวงลูกค้าจะต้องอ่านอีเมลที่ส่งมาก่อนที่จะดำเนินการใดๆ และพิจารณาว่าหลอกเอาข้อมูลหรือไม่" นายปรีดี กล่าว

ด้านธนาคารพาณิชย์ก็มีประเด็นในการให้บริการว่า หากบริการยิ่งมีความสะดวกรวดเร็วเพียงใด โอกาสที่จะเกิดปัญหาจะสูงกว่า แต่ถ้าอำนวยความสะดวกลดลงบ้าง เช่น จะต้องป้อนข้อมูลต่างๆ ป้อนหมายเลขบัตร หรือใส่รหัสผ่านก่อนทำรายการก็จะปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งธนาคารพยายามเตือนมาโดยตลอดในเรื่องกลุ่มมิจฉาชีพที่หลอกขอข้อมูลจากลูกค้า

อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามธนาคารหลายแห่ง ยืนยันว่า ธนาคารไม่มีนโยบายส่งข้อความหรืออีเมลเพื่อขอให้ดาวน์โหลดหรือติดตั้งโปรแกรมใดๆ หรือจัดทำหน้าจอป๊อปอัพเพื่อให้กรอกข้อมูลส่วนตัว

ดังนั้น หากได้รับ SMS, MMS หรืออีเมล หรือได้คลิกลิงค์เพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมที่ต้องสงสัยไปแล้ว หรือพบหน้าจอหรือข้อความที่ไม่คุ้นเคย ผิดไปจากปกติ ให้หยุดทำรายการทันที โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารทันที

ภาพประกอบข่าว