posttoday

หุ้น FAANG เสียทรง

21 มกราคม 2562

หุ้นกลุ่ม FAANG ซึ่งประกอบด้วย เฟซบุ๊ก แอปเปิ้ล แอมะซอน เน็ตฟลิกซ์ และอัลฟาเบท

เรื่อง พูลศรี เจริญ

หุ้นกลุ่ม FAANG ซึ่งประกอบด้วย เฟซบุ๊ก แอปเปิ้ล แอมะซอน เน็ตฟลิกซ์ และอัลฟาเบท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล ที่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี ปรับตัวลงต่อเนื่องทำนักลงทุนทั้งโลกผวา

เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มนี้ฮอต ใครไม่มีในพอร์ตการลงทุนไม่ว่าจะทางตรง (ลงทุนในหุ้น) และทางอ้อม (ลงทุนผ่านกองทุน) ถือว่าเชย ตกขบวนรถไฟสายเทคโนโลยี หรือเรียกกันติดปากว่า หุ้นเทคฯ หรือกองทุนเทคฯ

หุ้น FAANG เริ่มออกอาการเสียทรง ตั้งแต่หุ้นเฟซบุ๊ก ที่ปรับตัวลงช่วงกลางปี 2561 ขณะที่ผ่านมาหุ้นเหล่านี้ปรับตัวขึ้นแรง 32-58%

ทั้งนี้ หลังจากเฟซบุ๊กประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2561 ปรากฏว่านักลงทุนผิดหวังเมื่อผู้บริหารแจ้งกับผู้ถือหุ้นว่า บริษัทมีอัตราการเติบโตของรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ อัตราการเติบโตของผู้ใช้งานก็เพิ่มขึ้น 11% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่คาด และแนวโน้มทั้งปีผลการดำเนินงาน อาจจะไม่เป็นไปตามเป้า ส่งผลให้ราคาหุ้นเฟซบุ๊กปรับตัวลงแรง อีกทั้งเฟซบุ๊กยังเผชิญหน้ากับเรื่องวุ่นวายสารพัด เช่น เรื่องความปลอดภัยเชิงข้อมูล

นับตั้งแต่เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ความปั่นป่วนและความไม่แน่นอนทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก ได้เขย่าตลาดหุ้นติดต่อกันหลายระลอก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวลงแรงได้ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงตามระนาวนั้น ก็มีจุดเริ่มมาจากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี นำโดย 5 ยักษ์ไอที คือ เฟซบุ๊ก แอปเปิ้ล แอมะซอน เน็ตฟลิกซ์ และกูเกิล

ก่อนหน้านี้ หุ้นกลุ่มเทคฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังสดใส แต่นับตั้งแต่ช่วงหลังปี 2560 สัญญาณความผันผวนก็เริ่มปรากฏขึ้น หลังเหล่านักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจโลกเติบโตถึงจุดสูงสุดไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัวในปี 2562 ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจจากนโยบายหั่นภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ เริ่มแผ่วลง และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งผลชัดเจนต่อเศรษฐกิจยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังส่งผลกระทบด้านลบโดยตรงต่อการค้าทั่วโลก ซึ่งยิ่งเพิ่มแรงฉุดเศรษฐกิจโลกลงไปอีก

โดยภาคเทคโนโลยีถือเป็นอีกแนวรบหลักระหว่างสองชาติมหาอำนาจ และแนวรบที่ว่าดูจะขยายออกไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เรื่องปัญหาบีบเอกชนถ่ายโอนเทคโนโลยี การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไปจนถึงเรื่องเซมิคอนดักเตอร์

สถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดความผันผวนขึ้นในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี หลังนักลงทุนเริ่มมีการปรับพอร์ต หันไปลงทุนในหุ้นกลุ่มที่มีแนวโน้มเสี่ยงน้อยกว่าแทน

นอกจากความกังวลเศรษฐกิจโตชะลอลง บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนแล้ว ยังทำให้บรรดาผู้บริโภคเริ่มลดการจับจ่ายใช้สอยลง ซึ่งก็มีผลต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทไอที โดยเฉพาะกลุ่ม FAANG ที่ขายสินค้าและบริการเน้นด้านไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคโดยเฉพาะ

มาดูกันว่าการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในสหรัฐ สะเทือนมาถึงความมั่งคั่งนักลงทุนไทยอย่างไร

ในที่นี้จะขออ้างอิงจากกองทุนรวมที่ลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (FIF) ที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีโลก (Global Technology) ที่จัดอันดับโดยบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในไทยออกกองทุนประเภทนี้รวม 12 กองทุน (ข้อมูล ณ 31 ธ.ค. 2561) พบว่าผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา กองทุนเทคฯ ให้ผลตอบแทนติดลบเฉลี่ย 14.33%

ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนติดลบ 14.69% เรียกได้ว่าอาการหนักเลยทีเดียว

เมื่อมาดูรายกองทุน สำหรับผลการดำเนินงานย้อนหลัง 6 เดือน พบว่า กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเทคโนโลยีอิควิตี้ (KF-GTECH) ให้ผลตอบแทนติดลบสูงสุดที่ 14.62%

อันดับ 2 กองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลเทคโนโลยีอิควิตี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGTECHRMF) ติดลบ 14.57%

อันดับ 3 กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เทคโนโลยี อาร์ทิฟิเชียล อินเทลลิเจนซ์ อิควิตี้ ฟันด์ ชนิดสะสมมูลค่า (KT-WTAI-A) ติดลบ 13.04%

อันดับ 4 กองทุนเปิด ทิสโก้ โกลบอล เทคโนโลยี อิควิตี้ ชนิดสะสมผลตอบแทน (TISTECH-A) ติดลบ 11.53%

อันดับ 5 กองทุนเปิด แอล เอช ดิจิทัล อีโคโนมี ชนิดขายคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (LHDIGITAL-R) ติดลบ 10.77%

มาเจาะไส้ในกันต่อถึงนโยบายการลงทุนของกองทุน KF-GTECH กองทุนนี้ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนต่างประเทศชื่อ T.Rowe Price Funds SICAV - Global Technology Equity Fund (Class Q) ซึ่งเป็นกองทุนหลัก โดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (เอ็นเอวี) ของกองทุน

ขณะที่กองทุนหลักเน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพัฒนา หรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโดยเน้นบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีทั่วโลก ซึ่งรวมถึงประเทศในตลาดเกิดใหม่

ขอยกอีกตัวอย่างเพื่อเปรียบเทียบพอร์ตการลงทุน ด้านกองทุน LHDIGITAL-R เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ หรือกองทุนหลัก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

ซึ่งกองทุนหลักที่กองทุนลงทุนคือ กองทุน AXA World Funds Framlington Digital Economy จดทะเบียนในประเทศลักเซมเบิร์ก และอยู่ภายใต้ UCITS ซึ่งบริหารการลงทุนโดย AXA Funds Management S.A.

ทั้งนี้ กองทุน AXA World Funds-Framlington Digital Economy มีวัตถุประสงค์ลงทุนในตราสารทุนทั่วโลกโดยลงทุนอย่างน้อย 2 ใน 3 ในตราสารทุนหรือตราสารทุนที่เกี่ยวข้องของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางดิจิทัลตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ (Value Chain) ซึ่งหมายถึง ตั้งแต่การค้นพบสินค้าและบริการ ตลอดจนการตัดสินใจ การจ่ายเงิน และการ
ส่งมอบ รวมถึงเทคโนโลยีทางดิจิทัลที่อำนวยความสะดวก การให้ข้อมูล และการวิเคราะห์เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีทางดิจิทัลให้ดีขึ้น กองทุนอาจพิจารณาลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

อีกกองทุนเทคฯ สุดฮอตที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือ กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) ที่ผลการดำเนินงานติดลบน้อยที่สุด โดยย้อนหลัง 6 เดือน ติดลบ 7.04%

ด้านนโยบายการลงทุน มีการลงทุนในหน่วยลงทุนของ Fidelity Funds - Global Technology Fund (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน Class Y-ACC-USD โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

สำหรับ Fidelity Funds - Global Technology Fund (กองทุนหลัก) เป็นกองทุนรวมต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัททั่วโลกที่มีการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการ หรือบริการ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์อย่างสูงจากความก้าวหน้าและพัฒนาทางเทคโนโลยี

 

ส่วนแนวโน้มหุ้นกลุ่มเทคฯ จะเป็นอย่างไร ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐ ให้ผลตอบแทนเป็นบวกสูงกว่าปกติ ซึ่งฟินโนมีนา ระบุว่า สาเหตุเป็นเพราะการเติบโตของผลประกอบการบริษัทที่นำโดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้นักลงทุนใส่ความคาดหวังกับกำไรในแต่ละไตรมาสมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสะท้อนกลับมาด้วยราคาปิดต่อกำไร (พี/อี เรโช) ของหุ้นเติบโตสูง (Growth Stock) อย่างกรณีกลุ่มเทคโนโลยี ที่เพิ่มสูงขึ้นมาจนอยู่ในระดับที่เรียกว่าแพงกว่าในอดีต แต่ปี 2561 ที่ผ่านมา เริ่มเห็นนักลงทุนในตลาดปรับมุมมองต่อผลประกอบการในอนาคต โดยคาดว่าจะมีการชะลอตัวลง ดังนั้นการที่ราคาหุ้นเคยซื้อขายที่พี/อี แพงๆ ก็เริ่มจะอยู่ไม่ได้ เพราะอัตราการเติบโตอาจมีการปรับตัวลดลง ดังนั้น ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ราคาหุ้นปรับตัวลงมาซื้อขายในระดับที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา