posttoday

ธนารักษ์เล็งปรับขึ้นค่าที่ดินราชพัสดุเชิงพาณิชย์3-4% หวังรายได้เพิ่ม

15 มกราคม 2562

ธนารักษ์เล็งขยับที่เช่า เชิงพาณิชย์ตามมูลค่าทรัพย์สินอีก 3-4% หวังดันรายได้ปีนี้แตะหมื่นล้าน เดินหน้าพัฒนาพื้นที่หมอชิตเก่า

ธนารักษ์เล็งขยับที่เช่า เชิงพาณิชย์ตามมูลค่าทรัพย์สินอีก 3-4% หวังดันรายได้ปีนี้แตะหมื่นล้าน เดินหน้าพัฒนาพื้นที่หมอชิตเก่า

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ปีนี้กรมตั้งเป้าหมายจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท เนื่องจากกรมจะมีการพิจารณาปรับขึ้นค่าเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ในส่วนของผู้เช่าที่กำลังหมดสัญญาซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 5% ของพื้นที่ทั้งหมด ขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 1-2% ของราคาที่ดิน เพิ่มเป็น 3-4% ตามมูลค่าทรัพย์สิน ซึ่งจะทำให้กรมมีรายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท
 
"การปรับเพิ่มค่าเช่าจะเป็นการปรับฐานการคิดใหม่ จากเดิมที่กรมคิดค่าเช่าจากราคาที่ดิน มาเป็นคิดค่าเช่าตามผลตอบแทนต่อมูลค่าสินทรัพย์ที่อยู่บนที่ดินเข้าไปด้วย แต่ยืนยันว่าในส่วนของประชาชนรายย่อยที่มีการเช่าที่ราชพัสดุ และเพื่อทำการเกษตรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่มาเช่าที่ของกรมธนารักษ์จะไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าเช่าแน่นอน" นายอำนวย กล่าว

นอกจากนี้ กรมธนารักษ์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุขนาดใหญ่ อาทิ ที่ดินบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเก่า ซึ่งขณะนี้ผ่านการพิจารณาของ ครม.ไปแล้ว และอยู่ระหว่างออกแบบ รายละเอียดโครงการ รวมถึงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม คาดว่าจะสรุปและเริ่มก่อสร้างได้กลางปีหน้า รวมถึงโครงการที่ดินร้อยชักสาม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านเจริญกรุง มูลค่า 3,000 ล้านบาท ที่ได้ทำสัญญาแล้วและจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาเดือน ก.พ.นี้ โครงการศูนย์ราชการโซนซีแจ้งวัฒนะมูลค่าลงทุน 3 หมื่นล้านบาท ที่ผ่าน ครม.แล้วเช่นกัน และโครงการพัฒนาพื้นที่ราชพัสดุที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่จะปรับปรุงใหม่อีก 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมธนารักษ์มีที่ ราชพัสดุทั้งสิ้น 12 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่สำหรับใช้ในหน่วยงานราชการ ส่วนที่เปิดให้เช่าจริงมีจำนวน 4 แสนไร่ ในจำนวนนี้เป็นการเช่าเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยประมาณ 80% ซึ่งยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าเช่าอย่างแน่นอน ส่วน ที่เหลืออีก 20% เป็นที่เช่าเพื่อการพาณิชย์ มีอยู่ประมาณ 5 หมื่นสัญญาทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าเช่าจะแยกระหว่างองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร เช่น การไฟฟ้า การประปา อาจพิจารณาลดค่าเช่าให้ แต่จะไปเพิ่มค่าเช่าในองค์กรที่แสวงหากำไร เช่น ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่อาจจะขอปรับค่าเช่าขึ้นเป็น 4% โดยยกเว้นที่ดินเช่าที่เป็นที่อยู่อาศัยและเพื่อการเกษตร ที่มีอยู่คิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของที่เช่าในเชิงพาณิชย์ เพื่อไม่ให้คนที่มีรายได้น้อยเดือดร้อน

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีรายได้จากการทำข้อตกลงในการเช่าที่ราชพัสดุ หมอชิต จำนวน 63 ไร่ กับบริษัท บางกอกเทอร์ มินอล (BKT) มูลค่าโครงการลงทุนยังอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะลงนามได้ในเดือน ก.พ. 2562 นี้ ซึ่งเอกชนพร้อมมอบผลตอบแทนเป็นเงินสด 600 ล้านบาท และทรัพย์สินอีก 2,400 ล้านบาท รวมเป็น 3,000  ล้านบาท