posttoday

'กิตติพันธ์'ยื่นอุทธรณ์ สอบ'เอิร์ธ'ไม่เป็นธรรม

10 มกราคม 2562

"กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ" ตั้งโต๊ะแถลง ขอความเป็นธรรม กรณีธนาคารกรุงไทยสอบการปล่อยกู้เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธจนเป็นหนี้เสีย ชี้ถูกกล่าวหาไม่เป็นธรรม ยันทำตามขั้นตอน

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

กรณีการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ เป็นหนี้เสียก้อนใหญ่ของธนาคารกรุงไทยกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ล่าสุด ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงการปล่อยสินเชื่อได้ออกมาแล้ว และชี้มูลความผิดแก่อดีตผู้บริหาร และพนักงานหลายคน โดย "กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ"เป็นผู้บริหารสูงสุดที่ถูกกล่าวโทษมีความผิดจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่เอิร์ธ  ปัจจุบัน "กิตติพันธ์" ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการ ผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย และเป็นน่าจับตาในมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

กิตติพันธ์ ตั้งโต๊ะแถลงข่าวในนามส่วนตัว ในฐานะอดีตรองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า ได้รับจดหมายจากธนาคารกรุงไทยในการ ชี้มูลและกล่าวโทษ ลงวันที่ 25 ธ.ค. 2561 ซึ่งในเนื้อความสำคัญของข้อกล่าวหา คือ

"ไม่รักษาผลประโยชน์ของธนาคาร และปฏิบัติงานไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต รวมถึงใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริตในการแสวงหาผลประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากธนาคาร หรือบุคคลภายนอกเพื่อตนเองหรือเพื่อบุคคลอื่นเป็นเหตุให้ธนาคารเสียหายอย่างร้ายแรง"

สำหรับขั้นตอนอยู่ในระหว่างร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายส่วนตัวตรวจสอบเอกสารโดยละเอียด ก่อนตัดสินใจดำเนินการใดๆ ต่อไป ซึ่งตามกระบวนการทั่วไป หลังจากรับแจ้งข้อกล่าวหาแล้วผู้ถูกกล่าวหามีสิทธิอุทธรณ์ภายใน 60 วัน และขยายได้ตามกฎหมายที่กำหนด จากนั้นจะมีการวินิจฉัยและส่งคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง

กิตติพันธ์ กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก ทั้งในแง่การทำงานและวิชาชีพ จึงต้องการออกมาปกป้องสิทธิของตัวเอง เป็นที่มาที่ได้ตัดสินใจออกมาชี้แจงและขอความเป็นธรรม ใน 2 ประเด็นหลัก คือ การมีส่วนเกี่ยวข้องกับเอิร์ธ และการตั้งข้อสังเกตกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง

ทั้งนี้ ส่วนตัวเกี่ยวข้องสินเชื่อสองวงเงิน รวม 4,500 ล้านบาท ขณะนั้นเอิร์ธเป็นลูกค้าชั้นดี ไม่เคยมีประวัติชำระล่าช้า ได้รับการจัดเรตติ้ง BBB- จากทริสเรทติ้ง ซึ่งเป็นการยืนยันความสามารถชำระหนี้

ขณะที่กระบวนการปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามมาตรฐานทุกประการ ที่ผ่านการตรวจสอบจากสายงานประเมินความเสี่ยง คณะกรรมการกลั่นกรองสินเชื่อ และคณะกรรมการบริหาร ตัวเองจึงไม่ใช่ผู้อนุมัติสินเชื่อเพราะไม่มีอำนาจ

สิ่งที่ยืนยันว่า เอิร์ธ เป็นลูกหนี้ชั้นดี คือ การที่ธนาคารกรุงไทย ขายหุ้นกู้ของ เอิร์ธ มูลค่า 5,500 ล้านบาท ให้แก่ลูกค้ารายย่อย เมื่อกลางปี 2560 หลังจากที่ตัวเองได้ลาออกจากธนาคารกรุงไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2559

กิตติพันธ์ ยืนยันว่า สินเชื่อ 2 วงเงิน ที่ตัวเองมีส่วนในการนำเสนอ ไม่ได้เป็นต้นตอ ของเอ็นพีแอล แต่เอ็นพีแอลเกิดขึ้นจาก เอิร์ธ ไม่สามารถชำระหนี้ระยะสั้นได้ ในเดือน พ.ค. 2560 โดยเริ่มจากจำนวน 200 กว่าล้านบาท และเมื่อไม่ได้รับการผ่อนผัน ทำให้เกิดผลกระทบกับวงเงินอื่น (Cross Default) ทำให้วงเงินอื่นทั้งหมดเปรียบเสมือนว่าผิดนัดชำระหนี้ไปด้วย ทำให้สินเชื่อทั้งหมด 1.2 หมื่นล้านบาท กลายเป็นเอ็นพีแอล

ปัญหาเอ็นพีแอลของเอิร์ธที่มีจำนวนสูง ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารรัฐขนาดใหญ่ และเอิร์ธ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีผู้เสียหายจำนวนมาก ส่วนตัวยืนยันสนับสนุนให้มีการตรวจสอบ แต่ต้องให้ครบถ้วนรอบด้าน ทั้งสินเชื่อ หุ้นกู้ การบริหารจัดการลูกหนี้ขณะมีปัญหา และได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานเป็นกลาง ให้คำตอบกับสังคมได้อย่างชัดเจน และเป็นตัวอย่างให้เรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้

"การตรวจสอบไม่ควรตรวจสอบแค่กระบวนการอำนวยสินเชื่อ เพราะเหตุการณ์ที่สำคัญเหมือนกันคือการออกหุ้นกู้เพราะเป็นการให้วงเงินลูกค้าเพิ่มจากการอำนวยสินเชื่อ อีกเรื่องที่ตั้งข้อสังเกต คือ วิธีปฏิบัติของธนาคารกรุงไทยกับลูกหนี้รายนี้ เหมือนที่ปฏิบัติกับลูกหนี้รายอื่นหรือเปล่า เมื่อเทียบกับมาตรฐานวิชาชีพธนาคารอื่นปฏิบัติกับสถานการณ์เดียวกันอย่างไร"

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า ผลการสอบสวนมีความเป็นกลางหรือไม่ เพราะในคณะกรรมการสอบสวนชุดดังกล่าว มีบางคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายนี้ และสำหรับ กระบวนการสอบสวนก็มีคำถามว่ามีความยุติธรรมหรือไม่

กิตติพันธ์ กล่าวว่า ได้รับจดหมายครั้งแรกเมื่อเดือน ส.ค. 2560 เชิญให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งส่วนตัวลาออกจากธนาคารกรุงไทยมาเป็นปีแล้ว จึงไม่มีเอกสารใดยืนยัน และขอใช้สิทธิในการขอเอกสารจากธนาคารกรุงไทย แต่ก็เงียบไป

กระทั่งปลายเดือน ต.ค. 2560 มีการส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่คลุมเครือ จึงได้ส่งจดหมายสอบถามกลับไปยังธนาคารกรุงไทยเมื่อปลายเดือน พ.ย. 2560 และส่งย้ำอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2561 เพื่อขอให้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม

10 วันต่อมา ทางกรุงไทยส่งจดหมายตอบสั้นๆ ว่า จดหมายแจ้งข้อกล่าวหาที่ส่งมาให้นั้นมีความชัดเจนแล้ว

ส่วนตัวมองว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ในเดือน ก.พ. 2561 จึงส่งหนังสือขอคำตอบจากบอร์ด แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับและไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ อีก

จนล่าสุด 25 ธ.ค. 2561 มีจดหมายกล่าวหาร้ายแรงดังกล่าว

ในช่วง 16 เดือนกว่า ไม่เคยได้รับการแจ้งรายละเอียดของข้อกล่าวหา ไม่เคยได้รับโอกาสในการชี้แจง ระหว่างนั้นตนเองได้เข้าพบธนาคารแห่งประเทศไทย 3 ครั้ง เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและแจ้งข้อกังวลถึงกระบวนการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรม แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย บอกเพียงว่า ไม่สามารถทำอะไรได้จนกว่ากระบวนการตรวจสอบจะเสร็จสิ้นลง

ปัจจุบันกระบวนการเสร็จสิ้นลงแล้ว หวังว่า ธปท.จะเข้าไปดูว่ากระบวนการดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรมหรืออาจจะไม่ยุติธรรมกับผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดรวมทั้งตนเอง ด้วยกระบวนการจริยธรรมและธรรมาภิบาลที่ดีของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมมีความคาดหวังจริงๆ ที่จะให้ความเป็นธรรม

กิตติพันธ์ กล่าวว่า สำหรับบทบาทในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ขณะนี้ยังทำงานตามปกติ ที่ผ่านมาได้รายงานให้ทางบอร์ดซีไอเอ็มบี กรุ๊ป และบอร์ดซีไอเอ็มบี ไทย รับทราบตลอด ส่วนอนาคตต้องขึ้นอยู่กับทางกรุ๊ป และ ธปท.