posttoday

10 นวัตกรรมการเงินเด็ดปี'62

07 มกราคม 2562

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททางด้านการเงินแบบ 4.0 พบว่า มีนวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย

เรื่อง ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททางด้านการเงินแบบ 4.0 พบว่า มีนวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย หลากหลายรูปแบบ และเพื่อเป็นการตอกย้ำถึงรูปแบบที่เปลี่ยนไป WealthPlus จึงรวบรวมนวัตกรรมการเงิน 10 ประเภท ที่มาแรงต่อเนื่องในปี 2562 มานำเสนอ

การระดมทุนผ่าน ICO (Initial Coin Offering)

เป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ด้วยการออกเหรียญดิจิทัล หรือคอยน์ มานำเสนอขายให้แก่ผู้สนใจลงทุน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการระดมทุน เพื่อโปรเจกต์ใหม่ หรือผลิตภัณฑ์และบริการใหม่

ICO จะมีรูปแบบคล้ายกับ IPO ของหุ้น เพียงแต่แตกต่างกันที่ผู้ลงทุน IPO จะได้ถือครองหุ้น ส่วนผู้ลงทุน ICO จะถูกแทนด้วยเหรียญดิจิทัล โดยเหรียญนั้นสามารถนำไปและเปลี่ยนซื้อขายเป็นเหรียญสกุลเงินอื่นๆ ได้อย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) ที่ได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้

สำหรับในประเทศไทยนั้น การระดมทุนแบบ ICO นั้นถูกกฎหมายเรียบร้อยแล้ว และอยู่ภายในการกำกับดูแลโดยคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีกฎหมายคุ้มครองเกี่ยวกับ ICO สำหรับนักลงทุน ซึ่งผู้ที่ลงทุนจะลงทุนได้เฉพาะ ICO Portal ที่ ก.ล.ต.อนุญาตแล้วเท่านั้น

การปล่อยสินเชื่อผ่านมือถือ  Digital Lending

หลายธนาคารได้มีบริการปล่อยสินเชื่อผ่านแอพพลิเคชั่นโมบายแบงก์กิ้งของแต่ละแห่ง เพียงแต่ในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการทดสอบระบบและนำร่องบางกลุ่ม และในปี 2562 จะเป็นปีที่เปิดศึกของดิจิทัลเลนดิ้งอย่างเต็มรูปแบบ

เบื้องต้น แต่ละแห่งมีคอนเซ็ปต์บริการดิจิทัลเลนดิ้งแตกต่างกัน อาทิ ธนาคารกสิกรไทยใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาศึกษาฐานข้อมูลลูกค้า เพื่อดูความเสี่ยงและความต้องการวงเงิน ก่อนจะยิงข้อเสนอให้ลูกค้าทางโมบาย เคพลัส หากลูกค้ากดตกลง เงินเข้ากระเป๋าทันที ส่วนกรุงศรีเป็นการอำนวยความสะดวกในการยื่นขอสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลผ่านระบบดิจิทัลหรือออนไลน์ พร้อมมีระบบอนุมัติแบบอัตโนมัติ เงินกู้เข้าบัญชีลูกค้าโดยที่ไม่ต้องใช้บุคคลทำรายการเลย เป็นต้น

สำหรับปี 2562 หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อ โดยพิจารณาจากข้อมูลพฤติกรรม (Information-based Lending) แทนการใช้หลักประกัน (Collateral-based Lending) จะส่งผลให้กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้นผ่านดิจิทัลเลนดิ้งอีกด้วย

การปล่อยกู้ระหว่างบุคคลกับบุคคล P2P Lending

นับว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ที่ต้องการกู้เงินผ่านระบบดิจิทัลเช่นกัน เพราะการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคล หรือ Peer-to-Peer Lending (P2P) เป็นแพลตฟอร์มการให้กู้ยืมระหว่างบุคคลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เปรียบเสมือนสถานที่นัดพบออนไลน์และจับคู่ระหว่างนักลงทุน (ผู้มีเงินออม) กับผู้ขอกู้ (ผู้ต้องการเงินทุน) โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ซึ่งขณะนี้แพลตฟอร์ม P2P Lending ในไทยหลายราย และเริ่มเปิดให้บริการแล้วแต่ยังอยู่ในวงที่จำกัด โดยต้องรอกฎหมายออกมารองรับบริการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของ ธปท.และกระทรวงการคลัง คาดว่า ปี 2562 น่าจะเห็นเป็นรูปธรรมได้

ฟังก์ชั่นการทำงานของ P2P Lending นั้นมี 6 ขั้นตอนหลัก เริ่มตั้งแต่การยื่นใบคำขอกู้ยืมเงิน ตอบรับคำขอ ตรวจสอบเครดิต พิจารณาอนุมัติ ส่งมอบเงินและบริหารจัดการเงินกู้ โดยฟินเทคสตาร์ทอัพจะสร้างอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม อย่างแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ ส่วนการทำสัญญาและโอนเงิน การติดตามการชำระหนี้ระหว่างทั้งคู่ อาจมีเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วย ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น

ปัญญาประดิษฐ์ Artificial Intelligence (AI)

โปรแกรมที่ถูกเขียนและพัฒนาให้มีความฉลาด มีความสามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจได้ โดยการประมวลผลจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ โดยวงการเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ก็มีการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจการกู้ยืมเงิน ธุรกิจประกัน การเรียกเก็บหนี้ หรือการทำคัดกรองความเสี่ยง แต่ในช่วงที่ผ่านมาอาจยังไม่สมบูรณ์แบบมากนัก เพราะต้องให้เวลาแก่สมองกลอัจฉริยะนี้ได้เรียนรู้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่สักระยะหนึ่ง

ในวงการฟินเทคมีธุรกิจสตาร์ทอัพมากมาย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญและความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ จึงนำประโยชน์ตรงนี้มาใช้ในการลงทุนเช่นกัน อาทิ Digit เป็นฟินเทคสตาร์ทอัพด้านการออมที่ใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมการใช้เงิน ในบัญชีกระแสรายวันที่ไม่มีดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ยต่ำ จากนั้นจะทำการย้ายเงินไปยังบัญชีของ Digit เพื่อนำไปลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีกว่าการแช่เงินเอาไว้เฉยๆ

แชตบอต Chat Bot

คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำลองบทสนทนาของมนุษย์สามารถที่จะสื่อสาร พูดคุย ผ่านข้อความ และเสียงได้แบบทันท่วงที โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ฝังตัวโปรแกรมอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่น และโปรแกรมแชตต่างๆ เพื่อตอบคำถามหรือให้ข้อมูลได้ทันท่วงที ช่วยลดแรงงานคน ลดภาระในการดูแลลูกค้าและลดต้นทุน ที่สำคัญคือสามารถทำงานให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โดยในปี 2562 หลายสถาบันการเงินและหลายองค์กร มีแผนที่จะพัฒนาแชตบอตนี้ขึ้นมาอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการสอบถามข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทั่วไป หรือข้อมูลการเงินส่วนตัว รวมทั้งในอนาคตจะยกระดับความฉลาดขึ้นเป็นความสามารถในการทำธุรกรรมอย่างง่าย เช่น โอนเงิน ได้ด้วย

บล็อกเชน Blockchain

เทคโนโลยีสุดล้ำที่ถูกมองว่าจะเป็นการเปลี่ยนโลกข้ามไปสู่ยุคใหม่ เหมือนเมื่อครั้งที่อินเทอร์เน็ตเปลี่ยนโลกอุตสาหกรรมเข้าสู่ยุคเทคโนโลยี โดยความพิเศษของบล็อกเชน สามารถยืนยันความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ ได้อย่างมั่นใจและโปร่งใส เปลี่ยนวิธีการเก็บข้อมูลแบบรวมศูนย์เป็นกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology : DLT) ให้กับคนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึง ไม่ต้องอาศัยตัวกลาง

ในประเทศไทย บล็อกเชนถูกพัฒนาไปใช้ทั้งการโอนเงินระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินลูกค้ารายย่อยหรือลูกค้าธุรกิจ การใช้บล็อกเชนในซัพพลายเชนหน่วยจัดซื้อ การใช้บล็อกเชนตรวจสอบความถูกต้องของผลการเรียน (ทรานสคริปต์) รวมทั้งโครงการอินทนนท์
ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำลังศึกษานำบล็อกเชนใช้ในการโอนเงินระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งปี 2562 แว่วว่าจะยังเห็นการออกผลิตภัณฑ์และการให้บริการด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนอย่างต่อเนื่อง

Biometric & Digital ID

พิสูจน์ตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างพื้นฐาน National Digital ID รองรับการยืนยันตัวตนแบบใหม่ ควบคู่กับเทคโนโลยี Biometric ด้วยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่ช่วยกันพัฒนาถนนดิจิทัลไอดีขึ้น เพื่อยืนยันตัวตนหลายรูปแบบ ที่ไม่ใช่เพียงสถาบันการเงินได้ประโยชน์ แต่ยังสามารถขยายไปสู่การยืนยันตัวตนหรือข้อมูลทางการแพทย์ และการขอวีซ่าได้อีกด้วย หากไม่มีอะไรผิดพลาดในช่วงไตรมาสแรกจะเริ่มใช้ได้

ส่วนวิธีการยืนยันตัวตนด้วย Biometric หลังจากเทคโนโลยีก้าวหน้า สมาร์ทโฟนยี่ห้อต่างๆ ล้วน แต่มีการรองรับการใช้ Biometric หลายรูปแบบ เช่น การสแกนนิ้วมือ (Fingerprint) การสแกนใบหน้า (Facial Recognition) หรือแม้แต่การสแกนม่านตาก็เริ่มพัฒนาขึ้นมา เพื่อพิสูจน์อัตลักษณ์ตัวบุคคล รวมทั้งยังมีการใช้ Voice Recognition หรือการพิสูจน์ตัวตนด้วยเสียง ในการให้บริการผ่านคอลเซ็นเตอร์

การประมวลผลฐานข้อมูลขนาดใหญ่ Big Data & Data Analytics

เป็นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานนั้นๆ เพราะเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทำให้การเก็บข้อมูลทำได้มาก อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ได้ง่ายอีกด้วย ปัจจุบันพบว่า ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ธนาคาร ได้มีการสร้างและใช้ Big Data ซึ่งเป็นข้อมูลดิบในการเก็บรวบรวมข้อมูลสินค้า ลูกค้า ยอดคำสั่งซื้อ พฤติกรรมลูกค้า รายละเอียดต่าง และมี Data Analytics มาใช้ในการวิเคราะห์และกำหนดทิศทางการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจในอนาคต อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนให้กับการดำเนินธุรกิจอีกด้วย ถือว่าเป็นอีกหนึ่งระบบที่มีประโยชน์มาก และต้องมีการต่อยอดอย่างต่อเนื่อง

นวัตกรรมใหม่เพื่อผู้ลงทุน Gold Online Futures ชื่อ Go

เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่อ้างอิงทองคำแท่งที่มีความบริสุทธิ์ 99.5% ในตลาดโลก โดยที่ไม่ต้องส่งมอบทองคำจริง มีจุดเด่นที่ราคาซื้อขายเป็นราคาเดียวกันในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ กับราคาทองคำในตลาดโลก โดยที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการเทรดและการวางหลักประกัน จะใช้เงินบาททั้งหมด

DR หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ

ย่อมาจาก Depositary Receipt เป็นหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้น โดยผู้ออก DR ที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.จะไปซื้อหุ้นต่างประเทศมาเสนอขายให้ผู้ลงทุนไทยในรูปสกุลเงินบาท สัดส่วน 1 DR = หุ้นต่างประเทศ 1 หลักทรัพย์ ผู้ถือ DR จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เสมือนไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรง ซึ่ง บล.บัวหลวง เป็นผู้ออก DR รายแรกเมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา ชื่อย่อว่า E1VFVN3001 โดยมีหลักทรัพย์รับฝากเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ (ETF) อ้างอิงดัชนี VN30 ของตลาดหุ้นเวียดนาม

ทั้งหมดที่รวบรวมมา 10 นวัตกรรมการเงิน เป็นเทรนด์โลกยุคใหม่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งภายใต้เทคโนโลยีดังกล่าว อาจไม่เพียงใช้กับภาคการเงินการลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่สามารถปรับใช้ในธุรกิจได้อย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับองค์กร