posttoday

แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ตอบรับส่งผ่านนโยบายการเงิน

05 มกราคม 2562

การปรับขึ้น “อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไป” ของธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง เป็นไปตามกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

การปรับขึ้น “อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไป” ของธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง เป็นไปตามกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย

*****************************************

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.25% โดยไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีผลตั้งแต่วันที่ 4 และ 5 ม.ค. 2562 ตามลำดับ ยังไม่มีธนาคารแห่งใดประกาศขึ้นดอกเบี้ยตามมาอีก

ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้จะขึ้นเมื่อใด ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ไม่มีสูตรตายตัวว่าเมื่อขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากแล้วจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ตามเมื่อใด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละช่วง ซึ่งการปรับดอกเบี้ยเงินฝากขาเดียว มีผลกระทบกับต้นทุนการเงินบ้าง แต่อยู่ในวิสัยที่รับได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ ว่า เป็นการสอดคล้องกับสัญญาณดอกเบี้ยนโยบาย และเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด

ทั้งนี้ การประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของ 2 ธนาคารใหญ่ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปจากธนาคารพาณิชย์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้เริ่มจากฝั่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพียงขาเดียว ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน และ 36 เดือน ได้ปรับเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.25% ต่อปี ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่ง ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1.18-1.85% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (อัตราดอกเบี้ย MLR MOR และ MRR) ยังคงไว้ที่ระดับเดิม

การปรับขึ้น “อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไป” ของธนาคารพาณิชย์ เป็นไปตามกลไกการส่งผ่านนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยมองจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพียงขาเดียว ในภาวะที่สภาพคล่องยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นการสะท้อนถึงบทบาทของธนาคารพาณิชย์ในการตอบรับต่อมติของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา

หากธนาคารอื่นๆ ทยอยขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตามมาในลักษณะเดียวกัน ก็น่าจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดเงินฝากไม่ปรับเปลี่ยนไปจากภาพเดิมมากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังประเมินขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำเป็นการทั่วไปในรอบนี้ 0.25% สอดคล้องกับขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. โดยธนาคารพาณิชย์จะทยอยรับรู้ภาระดอกเบี้ยจ่ายเมื่อเวลาผ่านไปตามรอบของเงินฝากประจำนั้นๆ โดยปัจจุบันเงินฝากประจำสำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดไม่เกิน 5 ล้านบาท มียอดคงค้างอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท

โดยเฉพาะเงินฝากประจำ 3 เดือน ที่มีสัดส่วนประมาณ 20% ของยอดรวมเงินฝากประจำสำหรับบุคคลธรรมดาที่มียอดไม่เกิน 5 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ต้นทุนตั้งแต่ไตรมาส 2/2562 เป็นต้นไป

ขณะที่หากพิจารณาผลกระทบของดอกเบี้ยจ่ายที่จะเพิ่มขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในรอบนี้ โดยสมมติให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกัน จะอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 0.55% ของภาพรวมกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังให้มุมมองแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เป็นการทั่วไป อาจตามมาในจังหวะที่เหมาะสม โดยจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยขาเงินกู้เป็นการทั่วไปของธนาคารพาณิชย์ในช่วงหลังจากนี้ คงจะตั้งอยู่บนเงื่อนไขของแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความต้องการสินเชื่อ ความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และการประเมินผลกระทบที่ปรากฏขึ้นจริงจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากในรอบนี้

“เป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่จะขยับขึ้นในอนาคต คงจะน้อยกว่าขนาดของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับขึ้น โดยปรับขึ้นเพื่อชดเชยกับต้นทุนที่ทยอยเพิ่มขึ้น แต่ยังคงสอดคล้องกับสัญญาณเชิงนโยบายของผู้กำกับดูแลที่เน้นการเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนและไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

อย่างไรก็ดี หากนับสถาบันการเงินที่ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากก่อน หลังจากที่ กนง.ได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็น 1.75% คงเป็น ธนาคารออมสิน ที่เป็นสถาบันการเงินแห่งแรก

ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาธนาคารได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำประเภท 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน และ 36 เดือน ไปเป็นแห่งแรกแล้ว 0.25% เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนลูกค้าผู้ฝากเงิน ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นในช่วงนี้ โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย เพราะต้องการดูแลประชาชนไม่ให้ได้รับผลกระทบ

ด้านสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งอื่นนั้น ยังไม่มีเสียงตอบรับที่จะขยับตาม เบื้องต้นได้ประสานเสียงว่าจะตรึงดอกเบี้ยไปก่อน โดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้

อภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า การประชุมผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ครั้งล่าสุดมีความเห็นว่าสภาพคล่องในระบบยังสูงอยู่ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจึงมีมติยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยทั้งเงินฝากและเงินกู้ อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการประชุมพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง หลังการประชุมของ กนง. เดือน ก.พ.นี้

ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธนาคารยังจะคงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ต่อ และไม่มีการปรับเงินค่างวดขึ้น เพื่อไม่กระทบต่อการผ่อนชำระของประชาชน ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าสินเชื่อกว่า 1 ล้านราย อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดซึ่งในอนาคตหาก ธปท.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก ก็จะมีการพิจารณาอีกครั้ง

มงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) กล่าวว่า จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้อย่างน้อยไปถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2562 เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีกว่า 1 แสนรายให้ปรับตัวได้ เนื่องจากในธุรกิจขนาดเล็กหากขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้แล้วจะกระทบกับต้นทุนและการดำเนินงานอย่างมาก ปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเสียดอกเบี้ยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีแบงก์อยู่ที่อัตรา 5%

สภาพคล่องในระบบที่สูงทำให้ธนาคารขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากขาเดียวได้ แต่ต้องติดตามการตัดสินใจของ กนง. ในการประชุม กนง.นัดแรกของปี 2562 หากขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ก็คงจะเห็นตลาดปรับดอกเบี้ยตามมากกว่านี้